ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องหาทางรอดและปรับตัวเพื่อให้สามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิดที่ใช้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้เริ่มมีบทบาทและได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงประเด็นพื้นฐาน 3 มิติที่สำคัญ สิ่งแวดล้อม (Environmental : E) สังคม (Social : S) ธรรมาภิบาล (Governance : G) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ESG”
ขณะที่ภาครัฐมีแนวโน้มให้ความสำคัญด้าน ESG มากขึ้น จากการกำหนดนิยามกลุ่มกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) มาตรการภาษีคาร์บอนระหว่างประเทศ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้าน ESG และมาตรการป้องกัน Greenwashing
แน่นอนว่าการทำธุรกิจ การเติบโตและผลกำไร เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต่างคาดหวัง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะประเด็นทาง “สังคม” และ “สิ่งแวดล้อม” ดังนั้น การทำธุรกิจที่มุ่งดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส เอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม จึงเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลก
ความท้าทายที่เกิดขึ้นทำให้เห็นตัวอย่างของบริษัทต่างๆ พยายามขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความยั่งยืน เช่นเดียวกับ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ของประเทศไทย และศูนย์รวมความบันเทิงนอกบ้านที่หลากหลาย มีเป้าหมายการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน สอดแทรกความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยง ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างเหมาะสม
ผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ Stakeholders ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบด้วย ลูกค้า, พันธมิตรทางธุรกิจ ผู้บริหารและพนักงาน ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ชุมชนและสังคม Sustainable Growth Strategy รักษาการเติบโตในระยะยาว Locations Diversity มีสาขาหลากหลายรูปแบบกระจายตัวทั่วประเทศ Film Academy เป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และ Green Cinema ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและสังคมภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ดูหนังแบบคนรักษ์โลก “Green Cinema”
โครงการ “Green Cinema” เป็นไอเดียใหม่ที่น่าจะถูกใจคอหนังสายกรีน เป็นการพัฒนาปรับปรุงโรงภาพยนตร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หนึ่งในโครงการของการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินงานมาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ การคัดแยก และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เปลี่ยนจอหนังที่ไม่ใช้งานแล้วเป็น กระเป๋าเทรนด์รักษ์โลก “I am Reborn from Screen” ผลิตจากวัสดุจอหนังสุดเอ็กซ์คลูซีฟรุ่นแรก Limited Edition 3 แบบ 3 สไตล์ ทั้งแนวสปอร์ต หนุ่มสาวออฟฟิศ และนักเรียนนักศึกษา มีให้เลือกทั้ง กระเป๋าใหญ่มีซิป ราคาใบละ 890 บาท กระเป๋าขนาดกลาง 2 ดีไซน์ ราคาใบละ 690 บาท
ไม่เพียงเท่านั้นยังกิจกรรมมากมายที่เสริมสร้างและดูแลเอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการของเสีย การจัดการพลังงาน การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ทั้งในส่วนของ Smart Ticket ลดการใช้ตั๋วหนังแบบกระดาษ การใช้ถ้วยกระดาษ แทนถ้วยไส้กรอกแบบพลาสติก ใช้หลอดดูดน้ำ Bio ที่ย่อยสลายได้ง่าย ใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก จัดถังแยกขยะรีไซเคิล ใช้พลังงานทางเลือก Solar Rooftop และแผนติดตั้ง EV Charger ในปี 2566 บางสาขา
ทั้งหมดนี้เป็นการใช้แนวคิดการจัดการปัญหาขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy นำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์โดยใช้หลัก Upcycling ที่ผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดยครอบคลุมการดำเนินงานภายในองค์กร กระบวนการทางธุรกิจ รวมถึงสินค้าและบริการ
แปลง “ขยะพลาสติก” เพิ่มมูลค่าสู่สังคม
“พลังแห่งความร่วมมือ” คือหัวใจของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ Green Cinema คือการมุ่งจัดการขยะพลาสติก ด้วยการปลุกพลังความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รณรงค์การคัดแยกขยะ และการแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เริ่มจากการรณรงค์คัดแยกขยะ โดยมีถังขยะแยกประเภทที่โรงภาพยนตร์ รวมถึงเชิญชวนให้พนักงานและลูกค้าช่วยกันคัดแยกขวดน้ำพลาสติก พร้อมเป็นตัวกลางรวบรวมและส่งมอบให้หน่วยงานต่างๆ นำไป Recycle หรือ Upcycling เพื่อสร้างขยะให้เกิดมูลค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำขวดพลาสติกไปผลิตเป็นชุด PPE มอบให้บุคลากรทางการแพทย์ ผลิตเป็นเสื้อโปโลให้พนักงานในองค์กรสวมใส่ด้วยขวดน้ำพลาสติก ประเภทขวด PET
“มูลนิธิ เมเจอร์แคร์” ขับเคลื่อนสังคมแห่งความเท่าเทียม
“มูลนิธิ เมเจอร์แคร์” เป็นอีกหนึ่งโครงการเพื่อสังคม ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เนื่องจากการดูแลด้านสังคม และธรรมาภิบาล เป็นอีกมิติหนึ่งของ ESG ด้วยการ สร้างห้องหนังเพื่อการเรียนรู้ มีเป้าหมายปีละ 10 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ตลอดระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2559 - 2565 ได้ส่งมอบห้องหนังจำนวนทั้งสิ้น 58 โรงเรียน 58 จังหวัด รวมถึงพาน้องๆ ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุมาชมภาพยนตร์
นอกเหนือจากนี้ยังเปิดรับบริจาคโลหิตร่วมกับสภากาชาดไทย ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยโครงการบริการนวดผ่อนคลายโดยผู้พิการทางสายตา บริการพื้นที่ขายสินค้าสำหรับผู้พิการ จ้างพนักงานผู้พิการทำงานในตำแหน่ง Projectionist ปรับแผนสวัสดิการเพื่อสร้างความเท่าเทียม เช่น เพิ่มวันลาสมรสเพศเดียวกัน วันลาบวชเท่าเทียม วันลาช่วยภรรยาหลังคลอด เป็นต้น
ในมิติธรรมาภิบาล มีการจัดอบรมส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ภาษี นโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมพัฒนาศักยภาพพนักงาน อบรมความรู้ Hard Skills Functional Knowledge และอบรมด้าน Soft Skills Leadership อีกด้วย
“ESG” ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็น “ทางรอด”
ESG เป็นตัวชี้วัดที่นำมาช่วยวัดผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่ออนาคตที่มีความยั่งยืน และเป็นสิ่งที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคมให้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันยกระดับโลกใบนี้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ เป็นโอกาสครั้งสำคัญของธุรกิจที่มีพื้นฐานและสนใจเรื่องความยั่งยืนเป็นทุนเดิม เช่นเดียวกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเรื่อง ESG เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของบริษัท การประยุกต์ ESG เข้ากับบริบทของการดำเนินธุรกิจ จะช่วยในการเสริมสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างและส่งต่อสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ