มิตรผล ชูความสำเร็จแรกบนเส้นทางสู่ Net Zero ดันอุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ก้าวสู่ Carbon Neutrality Complex แห่งแรกของไทย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
กลุ่มมิตรผล ผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารอันดับ 2 ของโลก ประกาศความสำเร็จก้าวแรกบนเส้นทางสู่การเป็นองค์กร Net Zero ผลักดันอุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี สู่คอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Complex) ได้ตามเป้าหมาย ผ่านการรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ด้วยการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq) พร้อมเดินหน้าพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งองค์กร ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050
คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล เรายึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและลงมือทำจริงมาเป็นเวลานาน เพราะเราอยู่ในภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ทุกการดำเนินงานของเราจึงต้องมีคำว่า ‘ความยั่งยืน’ อยู่ควบคู่กันเสมอ โดยเรามีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภาคเกษตรให้มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเกษตรสามารถต่อยอดสู่การผลิตพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้ทรัพยากรจากแหล่งธรรมชาติ เพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้นได้
ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลมีการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือ From Waste to Value Creation’ ที่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามายกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อต่อยอดธุรกิจน้ำตาลสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลที่ได้ดำเนินงานมากว่า 30 ปี และปัจจุบันได้ขยายสู่การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ความสำเร็จของการผลักดันอุทยานมิตรผล ด่านช้างฯ จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันความตั้งใจและการลงมือทำจริงของเรา เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero ในอนาคตและร่วมสร้างสมดุลที่ดีให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
อุทยานมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคอมเพล็กซ์ที่ประกอบไปด้วย 7 โรงงานต่อเนื่อง ที่เริ่มจากโรงงานน้ำตาล และหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าชีวมวล และอุตสาหกรรมไบโอเบส อีกทั้งในปัจจุบันได้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนกว่า 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 300,000 ไร่ ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ได้แก่
1. การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Energy) จากการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบอ้อย สู่การผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ภายในกระบวนการผลิตของทุกโรงงานฯ โดยได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ลดการสูญเสีย จึงช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 185,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
2. ระบบบริหารจัดการน้ำเสีย (Advanced Technology for Environmental Protection) ด้วยการใช้เทคโนโลยีการบำบัดแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มาแทนการใช้ระบบแบบเดิมที่ใช้พื้นที่มากและเกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้น้ำที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพที่ดี สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 10,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
3. การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset) จำนวน 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า จากคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลได้รับจากการเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล มีแนวทางการดำเนินงานที่ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้หลัก BCG จากผลผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย และการขยายพื้นที่ปลูกป่าเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย โดยกลุ่มมิตรผลมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนโมเดลความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ ขยายสู่โรงงานในเครือต่อไป เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผลในการนำพาองค์กรก้าวสู่ Net Zero และสอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศไทย