สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ชี้แจงกรณี เกณฑ์ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอใหม่ ด้านการบดบังแสงอาทิตย์และด้านการเปลี่ยนแปลงของลม จากการก่อสร้างอาคารสำหรับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริเวณชุมชน ว่า ยังไม่ประกาศใช้ อย่างเป็นทางการ ในทางกลับกันเตรียม เปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 18 มิถุนายน ต่างจากนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ยืนยันว่า ระเบียบหรือข้อกำหนดอีไอเอใหม่ สร้างตึกบังแดด-บังลม ของสผ. ผ่านขั้นตอนเฮียริ่งไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และมีเป้าหมายประกาศใช้วันที่ 1 มิถุนายนเพียงแต่วันที่ 18 มิถุนายน นี้เป็นลักษณะชี้แจงทำความเข้าไปเพื่อนำไปปฎิบัติเท่านั้น
สอดคล้องสมาคมอาคารชุด ที่ได้รับข้อความระบุชัดว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการทำอีไอเอ มีมติเห็นชอบให้นำแนวทางการศึกษาและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านการบดบังแสงอาทิตย์ และด้านการเปลี่ยนแปลงของลม จัดทำอีไอเอ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ให้ใช้กับการศึกษาเพื่อการจัดทำ อีไอเอ ที่จะเสนอให้สผ. พิจารณา ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
สำหรับ รายละเอียดเงื่อนไข แนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการบังแสงอาทิตย์ของอาคารให้คำนึงถึงผลกระทบหลักใน 2 ประการได้แก่ ด้านสุขภาพซึ่งกำหนดระยะเวลาอย่างน้อยที่สุดของการรับแสงอาทิตย์ที่มีความจำเป็นต่อการสร้างวิตามินดีและสารซีโรโทนิน (serotonin) ของร่างกายมนุษย์ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันและด้านการใช้ประโยชน์ของแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งโซล่าร์รูฟ (Solar roof) การตากผ้าเป็นต้นโดยการประเมินนี้ดำเนินการโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการสร้างจำลองของการบังแสงอาทิตย์ที่ได้พัฒนาขึ้นและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันเช่น SketchupShadow,FX, Wind&SunHelioscope, BIM เป็นต้น
ประกอบด้วย1.อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตร (ตั้งแต่ 8 ชั้น) จากระดับถนนที่อยู่รอบโครงการและหรืออาคารที่มีความยาวต่อเนื่องกันตั้งแต่ 60 เมตรขึ้นไป 2.การจำลองการบังแสงอาทิตย์ควรจำลองการบังแสงอาทิตย์ 3 วัน คือ วันที่ 21 มิถุนายน คือวัน Summersolstice หรือวันที่แกนของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดคือ 23.5 องศา วันที่ 21 กันยนยน หรือ 21 มีนาคมวันที่แกนของโลกตั้งฉากกับระนาบของดวงอาทิตย์หรือขนานกับแกนของดวงอาทิตย์ วันที่ 21 ธันวาคมวันที่แกนโลกเอียงออกจากแกนของดวงอาทิตย์มากที่สุด 23.5องศา 3.กำหนดให้ใช้เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเวลา 6.00 น.และพระอาทิตย์ตกเวลา 18.00 น.โดยให้จำลองการบังแสงอาทิตย์ต่อเนื่องในทุกชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า 1 ชั่วโมงก่อนถึงพระอาทิตย์ตกจากขอบฟ้า 1 ชั่วโมงของวันที่ทำการประเมิน
วิธีจำลองให้ระบุรายละเอียดการจำลองในด้านต่างๆ ดังนี้ข้อมูลของโปรแกรมและเวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการจำลองรวมทั้งชื่อของเอกสารแสดงการทอสอบ, ตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่จะสร้างโดยระบุจุดศูนย์กลางของอาคารเป็นพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงให้มีความละเอียดเป็นองศาลิปดาและฟิลิปดาทิศการวางตัวของอาคารโดยให้แสดงผนังด้านใดด้านหนึ่งกับทิศเหนือ เป็นมุมที่มีความละเอียดอย่างต่ำเป็นองศา
กรณีมีแบบจริงของอาคารที่จะสร้างแล้วให้นำเข้าขนาดของอาคารโดยระบุความสูง ความยาวความกว้างของอาคารที่มีหน่วยเป็นทศนิยมมีหน่วยเป็นเมตร กรณีไม่มีแบบจริงของอาคารที่จะสร้างให้ระบุความสูงความยาวความกว้างของอาคารที่นำเข้าแบบจำลองเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์โดยแสดงหน่วยทศนิยมของความยาวที่มีหน่วยเป็นเมตร
ทั้งนี้การแสดงผลของการจำลองให้แสดงข้อมูลของการจำลองที่ได้โดยมีผลของการวิเคราะห์ในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ผลการบังแสงอาทิตย์ต่อพื้นที่โดยรอบทุกชั่วโมงที่ทำการจำลองโดยแสดงบนภาพถ่ายของโปรแกรม Google Earth ที่มีความละเอียดสามารถแสดงให้เห็นลักษณะของอาคารข้างเคียงและพื้นที่สาธารณะข้างเคียงที่ประชุมใช้ประโยชน์โดยรอบโดยลากเส้นตรงระหว่างชั่วโมงที่เท่ากันของวันที่ 21 มิถุนายนวันที่ 21 กันยายนและวันที่ 21 ธันวาคมเพื่อหาบ้านที่ถูกบังในเวลา 1 ปี 2.ที่ตั้งและบ้านเลขที่ถูกบังทุกชั่วโมงที่ทำการจำลอง
3. ที่ตั้งและบ้านเลขที่ที่รับแสงอาทิตย์น้อยกว่าวันละ 2 ชั่วโมง 4.ที่ตั้งและบ้านเลขที่มีการใช้โซล่ารูฟพร้อมข้อมูลกำลังไฟที่ผลิตจาก โซล่ารูฟต่อเดือน5.ที่ตั้งและบ้านเลขที่ที่มีกิจกรรมการตากผ้า 6.พื้นที่สาธารณะที่มีระยะเวลาที่ได้รับแสงน้อยกว่า 50% ในแต่ละวันที่ทำการจำลองพร้อมระบุกิจกรรมที่ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นในแต่ละวัน 7.ตารางแสดงประเภทผลกระทบของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการจำลอง 8.กรณีบริเวณรอบอาคารที่จะสร้างมีอาคารอื่นที่บังแสงอาทิตย์อยู่แล้วอาจจำลองการบังของอาคารที่มีอยู่แล้วออกจากรายการข้อเป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำสเกล หรือการปรับลดหรือเพิ่มขนาดของตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบ ให้เกิดความเหมาะสม โดยแบ่งเป็นระดับต่ำ ปานกลาง สูงโดยผลกระทบต่ำหมายถึงบ้านที่ได้รับแสงอาทิตย์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ผลกระทบปานกลางหมายถึงบ้านที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยกว่า2ชั่วโมงต่อวัน ผลกระทบค่อนข้างสูงหมายถึงบ้านที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์ตลอดวัน
สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไข โดยมีการจัดประชุมเชิญผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ รับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะ ลดผลกระทบที่ทำได้ก่อนเช่นการปรับปรุงรูปแบบอาคารหรือปรับแผนผังโครงการเป็นต้นหากไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการชดเชย
ขณะวิธีศึกษาการเปลี่ยน แปลงของลมจากการก่อสร้างอาคาร อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นหรือ 23 เมตร มีความยาวต่อเนื่อง 60 เมตรขึ้นไปให้เสนอผลจำลอง โดยใช้แบบคอมพิวเตอร์แบบ CFD(computational fluid dynamic)
เช่นเดียวกับอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 20 ชั้นหรือ 60 เมตรขึ้นไป
ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ความเร็วลม ความเร็วลมน้อยกว่า 1.5 เมตรต่อวินาที น้อยกว่า 50% ให้ความรู้สึกอึดอัด ขณะตั้งแต่ 1.5-4.0 เมตรต่อวินาทีความถี่น้อยกว่า 5% ให้ความรู้สึกสบาย แต่มากกว่า 15.0 เมตรต่อวินาที
ความถี่น้อยกว่า 0.022% ไม่ปลอดภัยในการทำกิจกรรม เป็นต้น แนวทางป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้แก้ไขพื้นที่โครงการด้านสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับกิจกรรมของมนุษย์และกิจกรรม เป็นต้น
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564