เปิดใจสถาปนิกดัง ‘รังสรรค์ ต่อสุวรรณ’ เร่ขายสาทรยูนิค 3 พันล้านใช้หนี้

28 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2559 | 13:59 น.
หนึ่งในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จากผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบันยังเห็นซากตึกร้างรอฟื้นฟูคือ “สาทรยูนิคทาวน์เวอร์” คอนโดมิเนียมหรูย่านเจริญกรุง “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ สถาปนิกดัง นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ประธานกรรมบริหารบริษัท สาทร ยูนิค ทาวน์เวอร์ จำกัด ถึงทางออกดังนี้

 ปมปัญหาสาทรยูนิค

นายรังสรรค์ เล่าถึง อาคารสาทรยูนิคสูง 49 ชั้นย่านถนนเจริญกรุง ว่า สร้างไปแล้ว 90% ปี 2540 โดยใช้เงินกู้ จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแม็กซ์ฯ 640 ล้านบาท จากเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,800 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินกู้ จะจ่ายตามการก่อสร้างแต่ละครั้ง ซึ่ง ไทยแม็กซ์จ่าย 60% บริษัทจ่าย 40% ซึ่งเราเบิกเงินมา 441 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ยังเหลือเงินกู้ที่เหลือวงเงิน 199 ล้านบาท ปรากฏว่า เงินทุนหลักทรัพย์ถูกรัฐบาลชวนสั่งระงับเพราะเกิดฟองสบู่และกล่าวหาว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้นเหตุใหญ่

 ทิ้งซากร้างเกือบ 20 ปี

จากปี 2542 จนกระทั่งปัจจุบัน สินทรัพย์ยังคาอยู่ใน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องแทนที่จะทำตามกฎหมายคือให้โครงการเจรจากับรัฐบาลขอปล่อยเงินกู้อีก 199 ล้านบาทที่เหลือหากไม่ปล่อยก็ให้บริษัทหาแหล่งเงินกู้อื่นเพราะได้ขายให้ลูกบ้านเต็มทั้งโครงการแล้ว ซึ่งย่อมมีผลกำไร หรือ ใช้วิธีรีไฟแนนซ์ ก็ไม่มีปัญหา แต่ ปรส.กลับเอาสินทรัพย์ขายทอดตลาดนี่คือการกระทำที่ผิดกฎหมาย หนี้ 441 ล้านบาท ขายไป 74 ล้านบาท ธนาคารเกียรตินาคินประมูลได้ แต่ไม่โอนเข้าธนาคารแต่กลับตั้งกองทุนรวมโดยหนี้ของสาทรยูนิค อยู่ในกองทุน เอเชียเดลิเวอร์ลี ซึ่งรัฐบาล “ชวน”ให้อำนาจไม่ต้องเสียภาษี และสามารถทำกำไร ด้วยการประกาศขายหนี้ 74 ล้านเป็น 900 ล้านบาท ขณะที่ บริษัทพยายามติดตามขอซื้อกลับคืน ขณะที่ประเทศชาติเสียหายจากการขายทอดตลาดสินทรัพย์ 8-9 แสนล้านบาท ทั้งของเอกชนและประชาชนทั่วไป

“หากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ 199 ล้านบาทที่เหลือให้ครบก็สามารถสร้างและโอนโครงการให้กับลูกบ้าน 600 หน่วยได้ ก็สามารถคืนเงินกู้ 640 ล้านบาทให้กับสถาบันการเงิน แต่เมื่อถูกอายัต โครงการสาทรยูนิค ฯ ก็เข้าไปอยู่ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ทำอะไรต่อก็ไม่ได้ ”

  เดินหน้าแก้ปัญหา

ปัจจุบันสาทรยูนิค ยังเป็นของบริษัท ซึ่งจะต่อสู้ 2 แนวทางคือ 1 .ต่อสู้คดีบนศาล 2. ขายอาคารต่อให้นักลงทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้หนี้ซึ่ง การขายโครงการ ได้ตั้งราคา 3,000 ล้านบาท เพราะราคาที่ดิน ปัจจุบัน ตกตารางวาละ 1.8 แสนบาท เนื้อที่ทั้งหมด 3ไร่ครึ่ง รวมเฉพาะราคาที่ดิน เกือบ 2,000 ล้านบาท ไม่รวมอาคาร จำนวน 600 หน่วย ปัจจุบันตารางเมตรละ 1 แสนบาทจากเดิมตารางเมตรละ 2 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้ รอนักลงทุนที่สนใจติดต่อเข้ามา 20-30 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ หากขายได้ จะนำเงินไป คืนให้เกียรตินาคิน เจ้าหนี้ จ่ายคืน บริษัท สี่พระยาฯผู้รับเหมา กว่า 100 ล้านบาท รวมทั้ง ลูกบ้าน จำนวน 600 หน่วย แต่มีเงื่อนไขว่าไม่มีดอกเบี้ยและยึดราคาเดิมคือตารางเมตรละ 2 หมื่นบาท คาดว่าหากมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ มั่นใจว่านักลงทุนที่เจรจาอยู่จะกลับเข้ามา โดยเฉพาะจีนที่ต้องการตึกนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลสมัยนั้นกล่าวหาว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้นเหตุทำให้เกิดฟองสบู่ ขณะที่บริษัทได้คัดค้านตลอดมา เพราะ ที่ผ่านมา สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้

 ฟ้องคดีฟอกเงิน

ขณะนี้ บริษัทต่อสู้คดีในศาล โดยฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานบอร์ดปรส.สมัยนั้น ตามที่ ปปช. ชี้มูลความผิด ศาลตัดสินว่า ผิดให้รอลงอาญากรณีขายสินทรัพย์ทอดตลาดผิดกฎหมาย แต่ บริษัทมองว่า หากกระทำให้ผู้อื่นและประเทศชาติเสียหาย จะต้องถูกดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอลงอาญา นอกจากนี้ยังฟ้องไปที่สหประชาชาติ เกี่ยวกับการฟอกเงิน ตามกฎหมายฟอกเงินที่ สหประชาชาติเตรียมพิจารณา แต่ละประเทศ เช่นเดียวกับ การค้ามนุษย์ ประมง การบิน เป็นต้น ซึ่งแบงก์ชาติ ถือว่าเป็นตัวการฟอกเงินและยังฟ้องแบงก์ชาติ ที่มี บริษัทสุขุมวิทฯ ถือหุ้น 99% นำสินทรัพย์ที่ตกทอดมาจาก 56 ไฟแนนซ์และที่ยึดมาจากเอกชนและประชาชนทั่วไป โดยมีกำไร 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าการทำกำไรจากซากทรัพย์สินประชาชนคือการฟอกเงิน

 ปลดล็อกตึกร้าง

สำหรับอาคารส่วนใหญ่ที่กลายเป็นตึกร้างทั่วประเทศ ทั้งอาคารสูงและ แนวราบไม่เกิน 500 อาคาร ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวโดยเฉพาะรัฐบาลต้องระดมสมอง เพื่อหาทางออก เพื่อให้โครงการที่ทิ้งร้างสามารถเดินหน้าต่อได้โดยส่วนตัวมองว่า เจ้าของอยากจะเดินหน้าต่อ ด้วยการหานายทุนใหม่มาสานต่อ เช่นเดียวกับบริษัทหรือการต่อใบอนุญาต ให้สามารถเดินต่อได้ ไม่ใช่เป็นแค่ซากตึกทิ้งร้างทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

กล่าวสรุป โครงการยูนิคสาทร ทาวน์เวอร์หากจะเดินหน้าต่อได้ วิเคราะห์ว่า จะต้องมีนักลงทุนเข้ามาซื้อเท่านั้น จึงจะสามารถปลดล็อกให้เดินหน้าต่อได้ ขณะที่ซากร้างอื่นอาจมีปัญหาต่างกันออกไป แต่เชื่อว่า ปมใหญ่คือทุนหมุนเวียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559