การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการศึกษาและเพิ่มเติมข้อมูลในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มอบให้เร่งพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและขนส่งให้กับประชาชน รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษ และเพิ่มทางเลือกการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดนครนายก สระบุรี จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและขนส่งสินค้า กรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี แล้วเสร็จ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 ได้มีมติให้ กทพ. ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลในรายงาน EIA ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาของ กทพ. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลชี้แจงรายงาน EIA โครงการฯ ตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ
โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี มีระยะทางประมาณ 104.7 กิโลเมตร ลักษณะโครงการฯ เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แนวสายทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ จากนั้นเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 และทางหลวงชนบท นย. 3001 ผ่านสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ตัดถนนรังสิต - นครนายก บริเวณ กม. 59+800 แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม. 116+000 เลียบไปตามแนว ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 เชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) บริเวณ กม. 10+700 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี มูลค่าโครงการเบื้องต้น 80,594.31 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,395.42 ล้านบาท และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงาน 73,198.89 ล้านบาท