ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ นัดอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้องชี้มูลความผิด นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผู้คัดค้าน เป็นอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมปี 2552-2554 ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ตามที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.27/2560 ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
คดีนี้สืบเนื่องจากนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อปี 2555 และข้อกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ จากเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นบ้านพักในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2554 ซึ่งผู้ที่ร่วมทำผิดคดีอาญานั้นได้ให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินว่า พบเงินสดในบ้านนายสุพจน์นับร้อยล้านบาท ขณะที่นายสุพจน์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินบางส่วนได้ ป.ป.ช.จึงชี้มูลความผิดนายสุพจน์มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทั้งยังให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ไม่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์ 5 ครั้งใน 2 รายการคือ เงินสด 17,553,000 บาท และรถยนต์โฟล์คสวาเกน ราคา 3 ล้านบาท ในขณะที่พ้นจากตำแหน่งประธานการรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการการบินไทย ประธานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นเวลา 1 ปี จึงลงโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางราชการเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 18 ม.ค. 2555 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 เป็นความผิดหลายกรรม จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทง คงจำคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา
อย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้สิทธิจำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกา อม. ได้อีกครั้ง นายสุพจน์จึงใช้สิทธิยื่นประกันตัวเพื่อสู้คดีอุทธรณ์และได้รับการประกันตัวไป จนศาลฎีกา อม.นัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ในวันนี้
เมื่อเวลา 10.50 น. องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คนออกนั่งบัลลังค์ พิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและเอกสารประกอบนั้น เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์มิชอบ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กระทำผิดเสียเองจึงนับว่าพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และเคยประกอบคุณงามความดีปฏิบัติหน้าที่ราชการจนได้รับตำแหน่งระดับสูง ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำคุก 10 เดือน และห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี โดยให้ออกหมายขังผู้คัดค้านตามคำพิพากษาถึงที่สุดและให้คืนหลักประกัน 2 ล้านบาทกับผู้คัดค้าน
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทางครอบครัวและญาติที่เดินทางมาให้กำลังใจได้ร่ำไห้เข้าไปกอดนายสุพจน์พร้อมพูดคุย ขณะที่นายสุพจน์ก็มีสีหน้าเศร้าน้ำตานองพร้อมพูดปลอบใจครอบครัว ก่อนถอดสิ่งของมีค่าฝากครอบครัว เพราะหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวไปคุมขังรับโทษยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพตามคำพิพากษาศาลฎีกา อม. ถึงที่สุดในวันนี้