| รายงานพิเศษ โดย อุมาภรณ์ ขวัญเมือง
……………….
ปัจจัยทางการเมืองที่ยึดโยงกับเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลถึงบรรยากาศการบริโภคและการลงทุนของเอกชนอย่างตัดกันไม่ขาด ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์หลังเลือกตั้ง ยังเป็นเรื่องหลักที่ทุกธุรกิจกังวล หวั่นความขัดแย้งรอบใหม่และความไม่ต่อเนื่อง สวนทางของนโยบายรัฐบาลใหม่ กระทบจังหวะการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย 3 บิ๊กสมาคมอสังหาฯ ระบุ ปัจจัยน่าห่วงที่สุดในเวลานี้ คือ เรื่องการเมือง เชื่อมั่นตลาดยังไปต่อ ไม่มีฟองสบู่
⁍ ชะลอลงทุนใหม่
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า แม้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันถูกมองในทิศทางไม่สดใสมากนัก จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและผลพวงของสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แต่เชื่อมั่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศไทยเองที่แข็งแกร่ง ฉะนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไปต่อได้ ทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายส่วนของภาครัฐ โดยเฉพาะระบบคมนาคม-รางขนส่ง มีความก้าวหน้าไปมาก ส่งผลดันราคาที่ดินในทำเลต่อเนื่องปรับตัวขึ้นสูง ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดอีอีซี (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ราคาขยับขึ้นมากกว่า 30% หวังรองรับเมืองเติบโตจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สถานี เช่นเดียวกับ 13 เส้นทางรถไฟฟ้า ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล คาดจะเกิดผลในทิศทางเป็นบวกต่อตลาด ยํ้าไม่มีภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นในตลาดรวมอย่างแน่นอน
⇲ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลต่อการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วง 6 เดือนแรกนี้ หลังผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ส่งผลให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการซื้อและขาย
⁍ ห่วงการเมือง-รัฐบาลใหม่
ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า ขณะนี้ ปัจจัยเรื่องแอลทีวี (หลักเกณฑ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่) แทบไม่มีผลกระทบต่อตลาดบ้านจัดสรร เพราะผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่เป็นการซื้อบ้านหลังแรก หรือเป็นในกลุ่มหลังที่ 2 แต่มีการผ่อนหลังแรกมาเกิน 3 ปีแล้ว และมีสัดส่วนในกลุ่มราคาแพงมากกว่า 10 ล้านบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
⇲ อธิป พีชานนท์
แต่สิ่งที่กังวล คือ การเมืองและรัฐบาลใหม่ ที่คาดเดาได้ยาก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาไปแล้วบางส่วน หากไม่มีการสานต่อโดยรัฐบาลใหม่ หรือ ถูกตีกลับ ทบทวน รื้อการประมูล ทั้งโครงการอีอีซี มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ฯลฯ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดที่อยู่อาศัยได้ เช่นเดียวกับนโยบายการเงินและการคลังของรัฐบาลใหม่ด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนของเอกชนและกำลังซื้อภายในประเทศ
"เอกชนคาดหวังหลังการเลือกตั้งต้องไม่มีควันหลงตามมา ต้องการให้หยุดความไม่แน่นอนแค่ไตรมาส 2 เท่านั้น เพราะไตรมาส 3 และ 4 คือ ความหวังของการบริโภค ว่า ต้องฟื้นตัว ใครจะมาเป็นรัฐบาล ต้องดูว่า มาสานต่อทันทีเลยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด กระทบแน่ ส่วนนโยบายการเงิน อยากให้มองมุมเดียวกัน ไม่งั้นเอกชนลำบาก"
⇲ อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
⁍ กลัวรื้อนโยบายลงทุนใหม่
เช่นเดียวกับ นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เชื่อมั่นว่า ทิศทางตลาดคอนโดมิเนียมปีนี้ยังเติบโต เพียงอาจมีผลกระทบจากเรื่องแอลทีวี ชาวจีนยังสนใจเข้ามาซื้อคอนโดฯไทย แต่ปัจจัยที่จะเป็นตัวฉุดภาพรวม คือ เรื่องการเมือง
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,451 วันที่ 10-13 มีนาคม 2562