คอลัมน์ผ่ามุมคิด
ภาพความเปลี่ยนแปลงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ทั้งในแง่กำลังซื้อ และรูปแบบการพัฒนาโครงการต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ซื้ออยู่จริงยังเป็นกำลังหลักแต่ไม่เติบโต ตลาดจำเป็นต้องถูกผลักดันด้วยกลุ่มนักลงทุนไม่ว่าระยะสั้นหรือยาว โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นฐานผู้เช่ารองรับ นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจตามสโลแกน “Asset of Life…สร้างกำไรให้ทุกการใช้ชีวิต มองช่องสบโอกาส ผุดโมเดลโครงการแนวใหม่แหวกตลาด พัฒนาเพื่อขายและเช่าอย่างสมดุล ชูโครงการมิกซ์ยูสระดับยักษ์ “ไซมิส พระราม 9” แตะหมื่นล้าน ใบเบิกทางขึ้นแท่นอสังหาฯ แถวหน้า
โมเดลธุรกิจ
นายขจรศิษฐ์ ระบุว่า ภาคธุรกิจหลักของไทย คือ การท่องเที่ยว ฉะนั้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะพยายามเกาะกระแสการท่องเที่ยว ปัจจุบันนอกจากให้ความสำคัญกับผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองแล้ว กลุ่มซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าระยะสั้น-ระยะยาวมีความน่าสนใจมาก เป็นนโยบายตั้งแต่เริ่มบริษัท ก่อให้เกิดโมเดลพัฒนาโครงการแนวใหม่ เชิงมิกซ์ยูส ทั้งซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และเอื้อต่อผู้ซื้อเพื่อลงทุนระยะสั้น-ระยะยาว
ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ
ด้วยวิธีแบ่งสรรปันส่วนการบริหารและจัดการที่เหมาะสม เช่น 1 โครงการมิกซ์ยูส ออกแบบให้ 1 อาคารสำหรับลูกค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองโดยเฉพาะ อีก 1 อาคาร สำหรับลูกค้าซื้อเพื่อลงทุนอย่างเดียว ซึ่งโครงการจะจัดหาบริษัท เพื่อ บริหารการปล่อยเช่ารองรับอำนวยความสะดวกให้ พร้อมแยกพื้นที่ส่วนกลาง ไม่ใช้ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาการอยู่อาศัยระหว่างผู้พัก 2 กลุ่ม และเพิ่มโอกาสการขาย สะท้อนจากความสำเร็จในโครงการ “ไซมิส บรอสซั่ม แอท แฟชั่น ไอส์แลนด์” โดยความท้าทายนั้น คือ การทำให้ 3 ส่วนหลัก ดีเวลอปเปอร์-เอเยนซี-กลุ่มผู้ซื้อ (อยู่เองและลงทุน) ได้รับผลประโยชน์ที่เท่าๆ กัน
“ความยากของโมเดลนี้ คือ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากส่วนกลางแยกส่วน การบริหารก็ยุ่งยากมากขึ้น แต่มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับโอกาสการขายและมีทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
มิกซ์ยูสเรือธง
โครงการ ไซมิส พระราม 9 โครงการมิกซ์ยูส หนึ่งในแพลตฟอร์มธุรกิจดังกล่าว ที่จะสร้างรายได้ทั้งจากการขาย และรายได้หมุนเวียนต่อเนื่องเข้าบริษัท เป็นเมกะโปรเจ็กต์แรกของบริษัทที่มูลค่าแตะ 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะนำมาซึ่งการกล่าวขานในกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มผู้พัฒนาด้วยกัน ปักหลักบนถนนแสนล้าน “พระราม 9” ฮับใหญ่ในเชิงธุรกิจ ยึดโมเดลการขายและเพื่อเช่า พื้นที่ 13 ไร่ หลักๆ มี 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร A พื้นที่ด้านหน้าออกแบบในเชิงคอมมิว นิตีมอลล์, อาคารสำนักงาน, ห้องประชุม และห้องพักเช่าระยะสั้น(โรงแรมไม่ขาย) อาคาร B สูงสุด 40 ชั้น ขายสำหรับผู้ซื้อ เพื่อลงทุนปล่อยเช่าทั้งระยะสั้นและยาว ให้รูปแบบการอยู่อาศัยเทียบเท่าการพักในโรงแรม โดยมีเชนโรงแรมดังบริหารจัดการให้ แต่ขณะเดียวกันผู้ซื้อจะต้องยินยอมรับรองให้โครงการยื่นขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในเชิงโรงแรมด้วยเช่นกัน (รอกฎหมายรองรับ) และสุดท้าย อาคาร C สูง 29 ชั้น สำหรับผู้ซื้ออยู่อาศัยเองทั้งหมดเริ่มที่ 2.9 ล้านบาท โดยคาดแล้วเสร็จปี 2565
“เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะแสดงศักยภาพของบริษัท คงโดดเด่นที่สุดในพระราม 9 รูปลักษณ์-คอนเซ็ปต์คล้ายฮ่องกง นิวยอร์ก ด้านหน้าเป็นคอมเมอร์เชียล เหมาะในเชิงธุรกิจและโฮเต็ล”
เป้าแถวหน้าอสังหาฯ
นายขจรศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่ดีต่อเนื่อง คาดปี 2562 ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ประมาณ 5 พันล้านบาท ขณะที่วางเป้ากำไรเติบโตถึง 20% จาก 9-10% ในปีที่ผ่านมา จึงมีแนวคิดนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาส 2 ของปี 2563 เพื่อระดมเงินทุนในการขยายโมเดลธุรกิจดังกล่าว ไปยังหัวเมืองขนาดใหญ่ เน้นจังหวัดท่องเที่ยว ขนาดและมูลค่าโครงการตามความต้องการของ ตลาด แต่ไม่ตํ่ากว่า 3-4 พันล้าน บาทต่อโครงการ เช่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นไป ตั้งเป้าเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ไทยระดับแนวหน้าด้วยจุดแข็งการบริหารต้นทุนที่ดีกว่า ลูกค้าครอบครองสินทรัพย์ราคาจับต้องได้ ภายใต้คำนิยามไซมิส ปลาที่ว่ายนํ้าไว ก้าวหน้ากว่าคนอื่นในราคาที่ไม่แพง...
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,477 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2562