เจ้าสัวเจริญเปิดทีเด็ด มหานคร “วันแบงค็อก” บนถนนพระราม 4 ทุบสถิติตึกซิกเนเจอร์สูงที่สุดในประเทศไทย สะเทือนบัลลังก์ “คิงเพาเวอร์มหานคร-ไอคอนสยาม วอเตอร์ฟรอนท์”
มิกซ์ยูสใจกลางเมืองปะทุเดือดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดทีเด็ด สร้างตึกสูงสะท้านฟ้า 430 เมตร เบียดแซง ตึกคอนโดฯ วอร์เตอร์ฟรอนท์ ไอคอนสยาม และ คิงเพาเวอร์ มหานคร กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศในแถบอาเซียน สร้างมูลค่าอย่างมหาศาลให้กับพื้นที่หากโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ ความสูง 615 เมตร ของจี-แลนด์เดิม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลซื้อไปไม่ขึ้นโครงการ
นอกจากตึกที่สูงที่สุดแล้วยังเป็นโครงการที่ตั้งอยู่บนทำเลกลางใจเมืองที่มีพื้นที่มากที่สุด มูลค่าสูงที่สุดและยังเชื่ออีกว่า ราคาขายต่อตารางเมตรที่ยังถูกอุบไต๋น่าจะสูงระดับเบอร์ต้นของประเทศ และหากโครงการนี้แล้วเสร็จ ที่นี่จะกลายเป็นมหานคร ที่มีเอกลักษณะเฉพาะ บนถนนพระราม 4 และหากเทียบกับ สุขุมวิทแล้ว มองว่า มีความต่าง แม้จะเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ เนื้อเดียวกัน แต่พระราม 4 มีรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินมุดใต้ดิน เข้าพื้นที่ ไม่มีโครงสร้างบดบังทัศนียภาพ ตามด้วยของแถม ปอดขนาดใหญ่ “สวนลุม” เนื้อที่ 360 ไร่ นอกเหนือไปจากการสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นเองกว่า 50 ไร่ เรียกว่า หายากและจะกระชากผู้คนนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ ขณะแผนรองรับการเดินทางทางโครงการได้วางแผนขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ดินแดง-ท่าเรือ) การทำทางเท้า สกายวอล์ก เชื่อมระหว่างอาคาร อีกทั้งการลงทุนรถไฟรางเบาเชื่อมรถไฟฟ้าสายหลัก
จากการให้สัมภาษณ์ของ นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ดฯ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสขนาดใหญ่สุดในไทย ภายใต้ชื่อ “วัน แบงค็อก (One Bangkok)” กล่าวว่าโครงการนี้ จะมีส่วนช่วยสำคัญในเชิงการท่องเที่ยวและโอกาสทางธุรกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งโครงการ วัน แบงค็อก ที่มีความหลากหลาย และเชิดชูวัฒนธรรมไทยเป็นจุดขายนั้น จะเป็นส่วนสนับสนุนในการนำประเทศชาติไปสู่เวทีโลก และโดดเด่นในระดับอาเซียนได้ ภายใต้ศักยภาพทางการเงินที่มีความแข็งแกร่งของบริษัท ทีซีซีฯ พร้อมเสริมด้วยประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกของบริษัทร่วมทุน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าว จะมีศักยภาพในการดึงดูดองค์กรชั้นนำเข้าเช่าพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ คาดจะมีคนใช้บริการหมุนเวียนในโครงการ 2 แสนคนต่อวัน โดยจุดเด่นสำคัญนอกจาก Signature Tower สูง 430 เมตร ซึ่งจะกลายเป็น 1 ใน 10 ตึกที่สูงที่สุดในอาเซียนแล้ว ยังอยู่ที่ทำเลที่ตั้ง บนใจกลางซีบีดีของกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ตลอดทั้งถนนมีความคึกคักสูงจากโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายสำคัญ ต้องการให้โครงการ วัน แบงค็อก สร้างนิยามใหม่และพลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ให้มีความโดดเด่น และดียิ่งขึ้นในสายตาชาวต่างชาติ เวทีโลก ในฐานะศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว และโอกาสทางธุรกิจอย่างครบวงจร สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศอาเซียนนั้น ขณะนี้ความคืบหน้าของการก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ทั้งหมด โดยพื้นที่เช่าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใจกลาง กทม. 104 ไร่ หัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 จะถูกพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ซึ่งจะประกอบไปด้วย พื้นที่สำนักงานระดับพรีเมียม รองรับบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวม 5 อาคาร, โรงแรมหรูหลากหลายเซ็กเมนต์ รวม 5 โรงแรม, ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี 3 อาคาร พร้อมด้วยพื้นที่ค้าปลีก 4 จุดเชื่อมต่อกัน และพื้นที่สาธารณะสำหรับการมุ่งเน้นให้เป็นศูนย์กลางทางศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อตอบโจทย์ทั้งในแง่การทำธุรกิจท่องเที่ยว และพักผ่อนอยู่อาศัยในรูปแบบสมาร์ทซิตี โดยจะใช้ระยะเวลาพัฒนาแล้วเสร็จทั้งโปรเจ็กต์ต่อเนื่องนาน 9 ปี (แล้วเสร็จทั้งหมดปี 2569) โดยต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ทั่วโลกดั่งที่เกิดขึ้นในมหานครอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มองว่ารูปแบบของโครงการดังกล่าว มีความสอดคล้องหลักกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศไทย หลังจากขณะนี้รัฐเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบขนส่งมวลชน ผ่านเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ รอบเมืองกรุงเทพฯ ระยะ 10 ปี, การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง, การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และอื่นๆ เป็นต้น
“ถนนพระราม 4 เป็นความท้าทายของเราเช่นกัน หลังจากขณะนี้ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ หรือ โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับ กทม.เช่น การปรับปรุงทางเดินเท้า การนำเอาสายไฟฟ้าลงดิน การทำงานร่วมกับจุฬาฯ และสถาบันนวัตกรรมเรื่องรถไฟฟ้า ทั้งหมด เพื่อเสริมศักยภาพของโครงการ เพราะขณะเดียวกันบนถนนพระราม 4 นอกจากโครงการ วัน แบงค็อกแล้ว เรายังมีการลงทุนอีก 4 โครงการขนาดใหญ่ ทั้งอาคาร เอฟวายไอ เซ็นเตอร์, โครงการสามย่าน มิตรทาวน์, โครงการ เดอะ ปาร์ค และโครงการปรับปรุงศูนย์สิริกิติ์แห่งใหม่ด้วย คาดมูลค่าที่จะเกิดขึ้นมหาศาล”
โครงสร้างพื้นฐานสุดลํ้า
นางสาวซู หลิน ซู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก ระบุว่า โครงการให้ความสำคัญอันดับแรกๆ กับการเข้าถึงและการเดินทางอย่างสะดวกสบาย ตัวโครงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีนํ้าเงิน สถานีลุมพินี สะดวกต่อการเดินเข้าถึงทุกจุดของโครงการ พร้อมทางเข้าออกรอบโครงการถึง 6 จุด จากฝั่งถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 รวมถึงทางเชื่อมโดยตรงกับทางด่วนซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ ทางเข้าออกเชื่อมต่อโดยตรงกับชั้นใต้ดิน ซึ่งใช้ระบบบริหารจัดการจราจรอย่างชาญฉลาด ช่วยให้การหมุนเวียนด้านการจราจรภายในสะดวกง่ายดาย ทำให้ถนนหลักภายในโครงการปลอดโปร่งและปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้า ทั้งโครงการจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางสุดลํ้าสมัย ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเอกชน ประกอบด้วยระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการนํ้าและพลังงาน ควบคุมดูแลโดยศูนย์ข้อมูล (District Command Centre) และเซ็นเซอร์อันชาญฉลาดมากกว่า 250,000 ตัว ที่คอยบริหารจัดการทุกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซู หลิน ซู
ด้านนายอุรเสฎร์ นาวานุเคราะห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายพัฒนาสินทรัพย์ ระบุว่า ในส่วนของโครงการที่พักอาศัย (คอนโดมิเนียมหรู) โครงการแรกที่จะเปิดตัวในปี 2563 จำนวน 110 หน่วย ส่วนบนสุดของโรงแรม The Ritz-Carlton,Bangkok นั้น ยังไม่สามารถระบุราคาขายต่อตร.ม. ได้ แต่ยืนยันราคาและคุณภาพโปรดักต์จะมีความสอด คล้องกัน หลังจากปัจจุบัน ถนนพระราม 4-วิทยุ มีราคาขายของโครงการที่พักอาศัยสูงสุดระดับต้นของประเทศ และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาต่อเนื่อง เพราะจำนวนที่ดินและซัพพลายมีจำกัด อย่างไรก็ตาม จะเน้นพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ดีมานด์ผู้ซื้ออยู่อาศัยจริง ซึ่งคาดส่วนใหญ่ 70% จะมาจากคนไทย ส่วนโรงแรม 5 แห่ง เป้าหมายเน้นลูกค้าต่างชาติระดับแตกต่างกัน
ขณะที่ส่วนอาคารสำนักงาน 5 แสนตร.ม. จะเป็นส่วนเติมเต็มความต้องการในตลาด ลดความหนาแน่นของดีมานด์บริษัท องค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมาย 70% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด เช่นเดียวกับส่วนพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่จัดการประชุม แสดงนิทรรศการ สำหรับบุคลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าการลงทุนโครงการมหาศาล การพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูส จะช่วยกระจายความเสี่ยงของการทำธุรกิจได้อย่างดี ขณะเดียวกันเป้าหมายของทั้ง 2 บริษัท มีวิสัยทัศน์ในการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น จึงไม่มีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่เกิดขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและของโลก
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,493 วันที่ 4-7 สิงหาคม 2562