ความบอบชํ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา มาตรการคุมสินเชื่อใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แอลทีวี) กระทั่งถูกทุบซํ้าด้วยวิกฤติไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ส่งผลให้การซื้อขาย หยุดชะงัก ผู้ประกอบการแต่ละค่ายต่างเร่งระบายสต๊อก เร่งโอนกรรมสิทธิ์ กำเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุด เพื่อผลประกอบการออกมาดีที่สุด แต่ทุกอย่างต้องชะงักอีกเมื่อกรมที่ดินออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนชะลอขอรับบริการ จดกรรมสิทธิ์และนิติกรรม จากสำนักงานที่ดินทั่วประเทศจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 จะคลี่คลายเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยตามมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองของรัฐบาล
จากการให้สัมภาษณ์ของนายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ระบุว่าผู้ประกอบการเข้าใจเจตนาดีของกรมที่ดินในการลดความเสี่ยงโควิด-19 แต่ประกาศที่ออกมาได้สร้างความสับสนจากการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันของสำนักงานที่ดินหลายๆ แห่งโดยเฉพาะอาจจะมีการหยุดให้บริการในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้หากมีการชะลอ หรือหยุดให้บริการ โดยเฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอน จดจำนองจะส่งผลกระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แม้กรมที่ดินจะแจ้งว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์โดยการลดธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ยังมีเวลาอีกพอสมควรที่จะให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามมาตรการ แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงโครงการบ้านดีมีดาวน์ที่จะต้องโอนและจดจำนองภายในวันที่ 31 มีนาคม นี้ และยังไม่มีการประกาศเลื่อนหรือขยายมาตรการออกไป
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท แต่ปีนี้ด้วยผลกระทบด้านต่างๆ คาดว่าตลาดจะหดตัวกว่าปีก่อนๆ ประมาณ 20% เหลือมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท และถ้ามีการชะลอโอน จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น และจะทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของแต่ละบริษัทตามมา กลายเป็นว่าบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาก็จะเริ่มมีปัญหาไปด้วย และยังไม่นับรวมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงควรจะหาแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น ใช้วิธีการจองคิวโดยมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการได้พยายามแก้ปัญหาโดยการให้ผู้โอนมอบอำนาจ เพื่อลดจำนวนคนเข้าไปยังสำนักงานที่ดิน เป็นต้น
สำหรับประชาชนที่เกรงว่า หากไม่ได้ไปโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดในช่วงนี้จะเสียสิทธิการขอลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านและห้องชุดไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถโอนและจดจำนองได้ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งยังมีเวลาอีก 3 เดือนบ้านและคอนโดฯ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถโอนและจดจำนองได้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท แวลู บมจ.พฤกษา ยืนยัน ผู้ประกอบการต้องเร่งโอนกรรมสิทธิ์เพื่อให้มีสภาพคล่องมีเงินสดหมุนเวียน เพราะไม่สามารถแบกภาระต่อไปได้ ทั้งนี้ หากกรมที่ดินตัดเรื่องโอน จะเสมือนการตัดอากาศหายใจทางออกเสนอ ส่งผู้แทนหรือมอบอำนาจเดินทางไปทำธุรกรรมเพียง1 คนขณะเดียวกันกรมที่ดินควร มีมาตการจัดห้องปลอดเชื้อจดทะเบียนนิติกรรมและใช้ระบบดิจิทัลดำเนินการ
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2563