อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เหงื่อตก ค่ายดาวเด่นเบอร์ 1 ในตลาด รายได้หด กำไรหายเกือบครึ่ง สะท้อนภาวะตลาดและความสามารถเอาตัวรอดในยุคกำลังซื้อโควิด-19 ระบาด หลังจากทยอยแจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกต่อตลาดหลักทรัพย์ ขณะยอดโอนกรรมสิทธิ์โตเกินปกติของช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา นับเป็นอีกมูลเหตุสำคัญ ทำตัวเลขผันผวนหนัก ซึ่งทุกค่ายระบุ ผลที่ออกมาไม่เกินจากความคาดหมาย หันเหหาช่องทางสร้างรายได้จากกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เป็นเสาค้ำ ตลอดช่วงปี 2563
เริ่มที่เบอร์ 1 ในวงการ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เจอพิษของเศรษฐกิจและโควิด-19 อย่างเต็มๆ หลังประกาศขายที่ดิน หวังเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ถึง 4 แปลงในไพรม์แอเรีย พบในช่วง 3 เดือนแรกของปี มีผลประกอบการลดลงทั้งในส่วนของรายได้และกำไรอย่างเห็นได้ชัด โดยมีรายได้ 7,143 ล้านบาท ลดลง 39.9% จาก 11,881 ล้านบาทของรายได้ปี 2562 ส่วนกำไรลดลง 45.3% อยู่ที่ 922 ล้านบาทเท่านั้น จากรายได้การขายที่ลดลง ทั้งจากจำนวนโครงการใหม่ที่เปิดลดลง ภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศชะลอตัว รวมถึงปัจจัยนอกเหนือการควบคุม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และมาตรการ LTV ทั้งนี้ พบปัจจุบัน พฤกษามีโครงการที่เริ่มเปิดขายและดำเนินงานอยู่รวม 186 โครงการ รวมมูลค่ามากกว่า 2.11 แสนล้านบาท
ไม่ต่างจาก บมจ.ศุภาลัย ที่พบว่าตัวเลขรายได้ในช่วงไตรมาสแรก เหลือเพียง 3,831.16 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียว กันของปีก่อนหน้าถึง 40% ส่วนกำไร จาก1,527 ล้านบาทในปี 2562 ลดลงไปประมาณ 51% เหลือเพียง 749 ล้านบาทเท่านั้น โดยให้เหตุผลหลักของรายได้และกำไรที่ลดลงมากว่า เนื่องจากในไตรมาส 1 ปี 2562 บริษัทมีการโอนกรรมสิทธิ์โครงการคอนโดมิเนียมครบกําหนดจำนวนมาก ขณะปี 2563 นั้น จะสร้างเสร็จและครบกําหนดโอนกรรม สิทธิ์ในช่วงครึ่งปีหลังถึง 4 โครงการ อีกทั้งบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV อีกด้วย
ส่วน บมจ. แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์ หลังปรับแผนดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะถดถอยของตลาดคอนโดมิเนียม โดยกระจายฐานรายได้ไปยังโครงการแนวราบและธุรกิจบริการก่อนหน้า ลักษณะแบบครบวงจร แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าผลประกอบการยังลดลงทั้งในแง่รายได้และกำไรเช่นกัน โดยไตรมาสแรก สามารถทำรายได้อยู่ที่ 1,850 ล้านบาท ลดลง 36.91% ขณะกำไรลดลง 40.38% จาก 349.99 ล้านบาท เหลือ 216.88 ล้านบาท ส่วนยอดขายรอโอนกรรมสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก มีมูลค่าประมาณ 3800 ล้านบาท
สำหรับ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 5,399 ล้านบาท ซึ่งลดลง 30.7% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 618 ล้านบาท หดลงไปถึง 42.7% เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับเป็นการเติบโตมากกว่าปกติ จากการที่ธปท.ประกาศใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ LTV ทำให้สินค้าบางส่วนถูกดึงออกมาล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยลบของตลาดในขณะนี้ ยืนยันว่า บริษัทยังสามารถสร้างรายได้จากโครงการแนวราบได้อย่างต่อเนื่องและเติบโตดี พุ่งสูงขึ้นมาก กว่าช่วงไตรมาสก่อนหน้า 4.8%
บมจ.ออลล์ อินสไปร์ แจงผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดว่า มีรายได้ 678.78 ล้านบาท ลดลง 20.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่กำไรสุทธิ 113.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.67% ทั้งนี้ พบว่ามีรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นนัย เนื่องจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย จากโควิด-19 ส่งผลให้ลูกค้ายกเลิกสัญญาและยินยอมให้ยึดเงิน
ขณะเจ้าเก่า บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ โดยนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร ซึ่งระบุไว้ตั้งแต่ต้นปี ว่า ปี 2563 นั้น ตลาดมีความท้าทายสูง จากปัจจัยใหญ่เรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อประชาชน และมาตรการ LTV ของรัฐ จึงประเมินความเสี่ยง ปรับกลยุทธ์รับมือมาตั้งแต่ปี 2562 ส่วนผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จะส่งผลอย่างยิ่งให้ตลาดคอนโดฯหดตัวหนัก อย่างไรก็ตาม การควบคุมต้นทุนทุกด้านของบริษัท ทำให้ผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกอยู่ในระดับน่าพอใจ โดยมียอดรับรู้รายได้ที่ 1,254 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 247 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตรากำไรขั้นต้น สูงกว่า 39% ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ด้าน บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งจัดอยู่ในอสังหาฯ กลุ่มเสี่ยง ทริสเรตติ้งกังวลในแง่รายได้ก่อนหน้า ปรากฏว่าในช่วงไตรมาสแรก ทั้งรายได้และกำไรลดฮวบ โดยมีรายได้รวม 2,168 ล้านบาท ลดลง 41.3% และมีกำไรสุทธิรวม 410.9 ล้านบาท ลดลง 68.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานกรรมการ ให้เหตุผลว่า มาจากการเปิดโครงการใหม่เพียงแค่ 1 โครงการ และเนื่องจากปีที่ผ่านมามียอดรับรู้รายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายที่ดินรอการพัฒนา ขณะปีนี้ มียอดรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและโครงการบ้านเป็นไปตามปกติ
ส่วน บมจ. แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ โกลเด้นแลนด์ ประเมินว่า เห็นภาพชัดเจนผ่านผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 แต่สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทยังสามารถสร้างรายได้ อยู่ที่ 3,994 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 351 ล้านบาท ซึ่งมาจากยอดขายแนวราบและ ค่าเช่าเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ ก่อนหน้า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ (รายได้) ปี 2563 อาจติดลบ 11.1-16.7% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนจำนวนสต๊อกเหลือขายทั่วประเทศแตะ 3 แสนหน่วย ขณะ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสินฯ ประเมินว่า กำไรสุทธิของกลุ่มอสังหาฯ ปีนี้จะลดลง ถึง 23% ต่ำสุดรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563