กรุงเทพมหานครมีเป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวขยายปอดใหม่ๆ ให้กับคนกรุง 1 ตารางเมตรต่อ 1 คน หรือ 10 แห่งต่อปีซึ่งมีมาตราฐานสูงกว่า องค์การอานามัยโลกหรือ WHO กำหนด ขณะปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวสวนสาธารณะแล้ว 39 แห่ง 3,743 ไร่ 2 งาน และมีเป้าหมายขยับ จาก 1 คนต่อตารางเมตรเป็น 7 ตารางเมตรต่อ 1 คนสำหรับพื้นที่เขียว ประกอบกับผังเมืองรวมกทม. กำหนดให้แต่ละโครงการเพิ่มพื้นที่สวนและหาก ทำปอดสีเขียวให้กับส่วนรวมจะได้รับโบนัส 20% พัฒนาพื้นที่ขายเพิ่ม เป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเนื่องจากที่ดินในเมืองหลวงเต็มไปด้วยตึกสูงมีราคา แต่อีกมุมหากดีเวลอปเปอร์ เน้นจุดขายพื้นที่สีเขียว ลดพื้นที่ขายหรือพื้นที่พาณิชย์ลงมองว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า นักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าสู่พื้นที่ ประกอบกทม.เป็นเมืองแออัดเต็มไปด้วยผู้คน
ปัญหาจราจรคับคั่ง ฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤติ ซํ้าร้ายไวรัสโควิด-19 ระบาดซํ้า ดังนั้นการเร่งค้นหาพื้นที่ว่างพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะเดิมจึงเข้มข้นขึ้น เช่น สวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ แลนด์มาร์กใหม่เมืองหลวง อีกทั้งปัจจุบันพบว่า มีโครงการขนาดใหญ่กลางใจเมือง กันพื้นที่ว่างเน้นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร โปรเจ็กต์ยักษ์ พัฒนามากขึ้น
แหล่งข่าวจากกรุงเทพ มหานครเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผังเมืองรวมกทม.ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการตลอดจนคนกรุงให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ ได้ทุกบริเวณแม้แต่บนอาคาร ขณะเดียวกันบ้านจัดสรรแต่ละหลัง ผังเมืองกำหนดเว้นที่ว่างเป็นพื้นที่สีเขียว 50%
ส่วนโครงการขนาดใหญ่ภาคเอกชนปัจจุบันเริ่มเห็นการแข่งขันพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เริ่มจากสามย่านมิตรทาวน์ที่เน้นปลูกต้นไม้บนอาคารนอกจากพื้นที่โดยรอบ บริเวณด้านล่าง เช่นเดียวกับ วันแบงค็อก โครงการที่มีตึกสูงที่สุดในไทย สร้างแลนด์มาร์กด้วยพื้นที่สีเขียวมากถึง 50 ไร่ โครงการแรกของประเทศที่มีสวนขนาดใหญ่กลางใจเมือง รวมถึงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เปิดพื้นที่โล่งเชื่อมทางเดิน ไปยังโรงงานยาสูบเดิม ซึ่งพัฒนาเป็นปอดแห่งใหม่ เต็มไปด้วยความร่มรื่น อีกทั้งเดอะปาร์ค ที่เดินเชื่อมโยงกันได้ โดยศูนย์สิริกิติ์และวันแบงค็อกมีแผน เจาะอุโมงค์เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีน้ำเงินเพิ่ม ความสะดวกต่อผู้ใช้ทาง
เช่นเดียวกับ เมืองมักกะสัน ศูนย์ช็อปปิ้งโลกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ กลุ่มซีพีมีแผนพัฒนา ในอีก 1-2 ปี รฟท.เน้นสร้างทางจักรยาน พื้นที่สวนไม่ต่ำกว่า 1 ไร่ ซึ่งจะช่วยสร้างความร่มรื่นให้กับพื้นที่และผู้มาเยือนได้อย่างมาก อีกแห่งที่น่าจับตาบริเวณหัวมุมถนนสีลม โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ของกลุ่มดุสิต กับกลุ่มเซ็นทรัล เนรมิตรสวนลอยฟ้า 7 ไร่ ขณะ ย่านบางนา มีโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์กม.7 บางนา-ตราด สวนป่าเชิงนิเวศน์ 30 ไร่ เป็นต้น เชื่อว่าอนาคต ทุกโครงการจะเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว ขณะหน่วยงานราชการเองได้ให้ความร่วมมือและมีกลุ่มชาวบ้าน เข้ามาเสริม แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นแต่ละบ้านปลูกต้นไม้ลงกระถางหรือปลูกตามระเบียงบนอาคาร อย่างน่าชื่นชม
“กทม. มีปัญหารถติด คนนำรถส่วนตัวออกเต็มผิวถนน ทำให้ทั้งเมืองเต็มไปด้วยมลพิษ และเมื่อโควิด-19 มา ทำให้ คนเริ่มตื่นตัว รักษ์สุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น มองว่าจะส่งผลดีต่อโครงการ คนอยากอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น”
ขณะกทม. ได้ มองหาพื้นที่ว่างเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ ของแถมให้กับโครงการเอกชนหากขึ้นโครงการในระแวกดังกล่าว ซึ่งเป็นผลดีต่อ ประชาชน คนพักอาศัยในโครงการอีกด้วย รวมทั้งการทำทางเดิน ทางจักรยาน ล่าสุดเพิ่มพื้นที่สวนได้ 6 แห่ง ล่าสุดสวนลอยฟ้าสะพานพระราม 6 เชื่อมฝั่งธนฯ-ฝั่งพระนคร นอกจากนี้ ยังพัฒนาปอดขนาดใหญ่จากที่ดินที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เช่นสวนบางขุนนนท์ สวนแก้มลิง ด้านตะวันออกของกทม. ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เก็บกักน้ำก่อนระบายป้องกันน้ำท่วม และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอีกด้วย ส่วนสวนที่มีอยู่แล้วอยู่ระหว่างปรับปรุง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนรถไฟ เป็นต้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563