หากการเข้าเคลียร์พื้นที่กว่า 35 ไร่ ย่านเจริญกรุง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งขององค์การสะพานปลา และบ้านนับร้อยหลัง เพื่อแปลงโฉมเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมความเป็นที่สุดไว้ในหลายแง่ จนก่อสร้างแล้วเสร็จ ด้วยมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการ “เจ้าพระยา เอสเตท” คือ ช่วงเวลาแห่งความท้าทายนับ 10 ปี ของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) สถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการของโปรเจ็กต์ยักษ์ดังกล่าว ก็เปรียบเป็นอีกอุปสรรคคลื่นลูกใหญ่ ที่หัวเรือใหญ่ อย่าง นายเบน เตชะอุบล ยอมรับว่า มีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการโอนกรรมสิทธิ์ในคอนโดฯหรู และการให้บริการของ 2 แบรนด์โรงแรมดัง อย่างไรก็ตาม เชื่อภายหลังสถานการณ์ทั่วโลกคลี่คลาย การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาบูม ส่งผลธุรกิจเติบโต พร้อมเห็นพ้องอสังหาฯ ชงนโยบาย “Second Home” หนุนต่างชาติอยู่ไทย ช่วยภาพรวม ขณะแผนการดำเนินธุรกิจนั้น ระบุ จะเป็นไปอย่างรัดกุม มีสเต็ป ท่ามกลางสถานะการเงิน ซึ่งยืนยันว่ายังแข็งแกร่ง
จังหวะสะดุดเปิดโครงการ
เดิมทีโปรเจ็กต์ “เจ้าพระยา เอสเตท” ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ,โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ และคอนโดมิเนียมหรู โฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่ด้วยสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของ COVID-19 จึงชะลอเปิดตัวออกไป เปรียบเป็นช่วง 5 เดือน ที่ทำได้แค่รอ ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงใดๆได้ เหมือนผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ และก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ตาม มั่นใจ แลนด์มาร์กใหม่ ย่านเจริญกรุงแห่งนี้ จะกลับมาคึกคัก และเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ หลังสถานการณ์คลี่คลาย จากจุดเด่นวิวแม่น้ำ และแบรนด์โรงแรมระดับลักชัวรี ทั้งนี้ ทั้ง 2 โรงแรมจะทยอยเปิดในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายนนี้
“ธุรกิจโรงแรมกระทบทั้งโลก และทั้งประเทศ ทุกคนก็หวังให้โควิดให้ผ่านไปอย่างเร็ว แต่อย่างที่รับรู้ ทั่วโลกยังน่ากังวล โชคดี 2 เชนจ์โรงแรมระดับโลกต่างมีจุดแข็ง ไม่ใช่แค่ห้องพัก แต่เรายังมียอดจองการจัดงาน การประชุมขนาดใหญ่ และกรุ๊ปไพรเวท จากลูกค้าในประเทศเข้ามาต่อเนื่อง ไม่รวมกับส่วนร้านอาหาร ซึ่งต่างเป็นที่ยอมรับ รองรับในการสร้างรายได้อยู่มาก”
หน่วยเหลือขายเปรียบ “ชิ้่นปลามัน”
ทั้งนี้ สำหรับคอนโดฯโฟร์ซีซั่นส์ ไพรเวท เรสซิเดนท์ กรุงเทพฯ มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาทนั้น ปัจจุบัน มียอดขายไปแล้วประมาณ 70% ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขยอดขายที่สูงที่สุดในตลาด คอนโดฯของกรุงเทพฯ ณ ขณะนี้ ด้วยราคาขายเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อตร.ม. หรือ 45- 400 ล้านบาท ปัจจุบันมีการทยอยโอนกรรมสิทธิ์แล้วบางส่วน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ 64% เป็นกลุ่มคนต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเพื่อดำเนินการได้ แต่เบื้องต้น ไม่มีความกังวล เนื่องจากมั่นใจในกลุ่มลูกค้า หลังจากมีการยื่นความประสงค์รับโอนกรรมสิทธิ์ ผ่านการทยอยโอนดาวน์มัดจำเข้ามาเพิ่มเติมโดยยังคงเหลือยอดขายที่รอรับรู้รายได้อีก 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะหน่วยเหลือขายอีกประมาณ 30%รวมมูลค่า 7 พันล้านบาทนั้น ด้วยจุดเด่นของโครงการฯ ซึ่งมีแนวโน้มของราคาขายปรับขึ้นในทุกปี และล้วนอยู่ในผังพรีเมี่ยมของโครงการ คาดจะสามารถผลักดันยอดขายให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก และจะเปรียบเป็นขุมทรัพย์ ที่จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทในทุกๆ ปี ระหว่างการรอขึ้นโปรเจ็กต์ใหม่
“เป็นกลยุทธ์การขายของโปรเจ็กต์ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่เน้นความเร็ว และด้วยจุดเด่นของทำเล มูลค่าที่ดินที่มีแนวโน้มเพิ่มอีก อาจผลักดันให้ราคาขายเฉลี่ยทั้งโครงการไปสู่ 3.2 แสนบาทต่อตร.ม. ปรับขึ้นจาก 2.8 แสนต่อตร.ม. อีกทั้ง มูลค่าเหลือขาย7 พันล้านของเรา ไม่ต่างจากโครงการขนาดทั่วไปหลายโครงการของรายอื่นๆ มองเปรียบเป็นส่วนที่จะสร้างผลประกอบการให้กับบริษัทได้เรื่อยๆ ในทุกปี โดยไม่มีภาระหนี้ผูกผัน”
หนุน Second Home
นายเบน กล่าวต่อว่า คอนโดฯโฟร์ซีซั่น ได้รับการตอบรับสูงมาก จากกลุ่มลูกค้าคนต่างชาติ มากถึง 20 สัญชาติ สูงสุดคือ กลุ่มคนจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวันและสิงคโปร์ สะท้อนถึงความนิยมที่มีต่ออสังหาฯไทย โดยเฉพาะทำเล ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ มักเป็นที่ต้องการสูง และช่วงหลังแนวโน้มความต้องการยิ่งมีมากขึ้น หลังเมืองเป้าหมายด้านอสังหาฯ อย่างฮ่องกง เกิดความวุ่นวายในประเทศ ทำให้กลุ่มคนต่างชาติ เปลี่ยนใจอยากเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้น จึงเห็นด้วย กับกรณีที่ล่าสุดผู้ประกอบการ ชงให้รัฐบาล ออกแคมเปญ “Thailand Best Second Home” หนุนคนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ หรือการขยายเวลา และออกวีซ่าระยะยาวให้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดโดยรวมและโปรดักต์ของบริษัทอย่างมาก
“แม้กลุ่มโปรดักต์ซูเปอร์ลักชัวรี ยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนต่างชาติ โดยไม่ต้องรอแคมเปญจากรัฐ แต่นโยบายดังกล่าว ก็อาจจะช่วยจูงใจการซื้อการลงทุนให้เกิดมากขึ้นได้เช่นกัน”
ชะลอลงทุนใหม่
จากสถานการณ์โควิด บริษัทเองวางแผนไม่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวังในการลงทุน สิ่งที่โฟกัสสูงสุด คือ การสร้างความคึกคักให้กับ 2 โรงแรม และเร่งการทยอยโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนคอนโดฯให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ ก็ถือว่ายังเป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้ง่ายต่อการปรับโครงสร้างทางการเงิน รวมยอดขายที่จะสร้างการรับรู้ทางรายได้อีกมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ก็จะเพียงพอต่อการคืนหนี้ก่อสร้างของโปรเจ็กต์ริมน้ำทั้งหมด สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน แต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทจึงตัดสินใจ การเปิดโปรเจ็กต์ใหม่ บนพื้นที่ 23 ไร่ ย่านพระราม 3 ออกไปก่อน ซึ่งเดิมทีจะก่อสร้างในรูปแบบมิกซ์ยูสเช่นกัน และโรงเรียนนานาชาติ Concodia ออกไปก่อน แม้จะมีแผนและพาร์ทเนอร์รอพร้อมแล้ว
“ในภาวะนี้ ไม่ใช่จังหวะการบุกของดีเวลลอปเปอร์ เริ่มขาย เริ่มก่อสร้าง เราจะไม่ทำโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมาซ้อน ท่ามกลางตลาดคอนโดฯ ยังมีซัพพลายอยู่มาก โฟกัสสำคัญ คือ ทยอยปลดล็อกกับโครงการที่แล้วเสร็จ เพื่อให้บริษัทเข้าสู่ภาวะแข็งแกร่ง และง่ายต่อการพัฒนาโปรเจ็กต์อื่นๆ ในอนาคต”
หน้าที่ 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13 - 16 กันยายน พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำเลริมเจ้าพระยาบูมสนั่น ! โรงแรมหรูเปิด-รถไฟฟ้าสายสีทองวิ่ง