ขยะปัญหาใหญ่ ที่ต้องเร่งแก้ไข แม้ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาตรการเข้ม งดใช้ถุงพลาสติก ลดปริมาณขยะย่อยสลายยากลงแล้วก็ตาม ทว่าสถานการณ์โควิด-19 กลับมีเรื่องของขยะพิษ เข้ามาสมทบกับขยะมูลฝอยทั่วไป ที่ต้องเร่งหาวิธีกำจัดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วันซึ่งได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร ใช้นวัตกรรม เปลี่ยนขยะเป็นกระแสไฟฟ้า
หลังจาก โครงการแรก มีกำลังผลิต ขนาดการกำจัดมูลฝอยไม่น้อยกว่า 500 ตัน/วัน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 พบว่าได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้ ทั้งยังสามารถแปรรูปมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ตํ่ากว่า 7-8 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้ง 9.8 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนในด้านต่างๆ จากกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ของโครงการ ซึ่งตอกยํ้ามาตรฐานของเทคโนโลยีที่ใช้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานของบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และชุมชนเป็นสำคัญ
สำหรับโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการภายในปี พ.ศ.2566 ยังคงขับเคลื่อนด้วยระบบเตาเผาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนำพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน สามารถผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบได้ถึง 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากโครงการแรกที่ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 9.8 เมกะวัตต์ จึงเป็นการตอบโจทย์แนวคิดด้านเศรษฐกิจสีเขียวหรือ Green Economy ที่มุ่งเน้นการยกระดับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ทรัพยากรแบบไม่สูญเปล่า ซึ่งขยะมูลฝอยถือเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่งที่สามารถนำมากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้
“พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเทคโนโลยีเตาเผา เกิดจากการนำความร้อนที่เกิดจากการเผาขยะไปผลิตไอนํ้าที่เรียกว่า “ไอนํ้าแรงดันสูง” จะถูกส่งไปหมุนกังหันไอนํ้าซึ่งมีเพลาเชื่อมกับเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้า เกิดเป็นพลังงานขึ้นมา สำหรับเถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้บางส่วนยังสามารถนำไปให้ประโยชน์ต่อได้ด้วย เช่น นำไปผลิตเป็นอิฐสำหรับการก่อสร้าง
ขณะที่ผ่านมากทม.กำจัดขยะโดยวิธีฝังกลบแต่เนื่องจากปริมาณขยะเพิ่มขึ้น พื้นที่ทิ้งขยะลดลงสร้างผลกระทบต่อชุมชนส่งผลให้ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยลด
ทั้งสิ่งปฏิกูล สร้างรายได้ให้ชุมชน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563