ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า อนันดาฯ ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนเมือง ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบที่ควรมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเสมอมา และสำหรับปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญดังนั้นบริษัทจึงได้กำหนดมาตรฐานที่เพิ่มความเข้มข้นสำหรับการปฏิบัติในทุกกระบวนการการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ระหว่างการก่อสร้าง แต่รวมถึงการให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้าน ชุมชน ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน
มาตรการที่สำคัญคือ มาตรการระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเริ่มต้นแล้วที่โครงการ ไอดีโอ รัชดา-สุทธิสาร ปัจจุบันโครงการได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีแผนดำเนินการต่อไปกับโครงการไอดีโอ อโศก พระราม9 โครงการไอดีโอ จุฬา-สามย่าน และ โครงการแอชตัน แกรนด์พาร์ค ลุมพินี (ชื่อเดิมคือโครงการไอดีโอ โมบิ พระราม 4) โดยผู้รับผิดชอบโครงการจะตรวจสอบคุณภาพเครื่องวัดฝุ่นละอองที่ติดตั้งอยู่แล้วในไซต์ก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) เพื่อควบคุมและลดอัตราการกระจายฝุ่นภายในไซต์ก่อสร้างให้อยู่ในระดับมาตรฐาน โดยเบื้องต้นมีมาตรการในการลดฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง ดังนี้
1. มีการติดตั้งสปริงเกอร์สำหรับพ่นน้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง มีการคลุมอาคาร และมีสปริงเกอร์ฉีดพ่นน้ำในทุก ๆ 5 ชั้นของอาคารก่อสร้างอีกด้วย
2. ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นไม่ให้เกินค่าเกินมาตรฐาน
3. การทำห้องตัดกระเบื้องซึ่งจะช่วย ลดฝุ่น ลดเสียง ลดขยะ ลดขั้นตอนการขนส่งและลดระยะเวลาการก่อสร้าง โดยภายในห้องประกอบด้วย
- พัดลมดูดอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องเพื่อถ่ายเทอากาศ
- เครื่องตัดกระเบื้อง
- พัดลมดูดอากาศซึ่งทำหน้าที่ดูดฝุ่นออกจากห้องตัดกระเบื้องเข้าสู่ท่อลำเลียงฝุ่น
- ท่อลำเลียงฝุ่นออกสู่ถังพัก
- ถังน้ำ (สำหรับทิ้งให้ฝุ่นตกตะกอน ป้องกันการฟุ้งกระจาย)
4. มาตรการการควบคุมเสียง ระดับเสียงไม่เกิน 120 เดซิเบล และมีมาตรการวัดเสียงแบบ Real time (ไม่ใช่เป็นการวัดแบบค่าเฉลี่ยของทั้งวันขณะทำการก่อสร้าง)
5. การทำงานปูพื้นกระเบื้องในรูปแบบใหม่ คือ เป็นการตัดกระเบื้องในห้องที่คิดค้นพิเศษดังกล่าวสำหรับการตัดเตรียมวัสดุก่อสร้างในลักษณะของจิ๊กซอว์ แล้วจึงยกขึ้นไปทำการปูกระเบื้องยังพื้นที่หน้างานทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่น ลดเสียงที่เกิดจากการตัด และยังสามารถควบคุมปริมาณกระเบื้องที่ใช้ได้ดีขึ้นอีกด้วย
“ ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ อนันดาฯ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นปัญหาใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ หากทุกคน ทุกองค์กร และทุกหน่วยงานหันมาร่วมกันห่วงใย และใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ด้วยการร่วมมือกันรับผิดชอบและแก้ปัญหาไปด้วยกัน เชื่อมั่นว่าโลกของเราจะกลับมาน่าอยู่มากขึ้น” นายชานนท์กล่าวทิ้งท้าย