การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เร่งรัดส่งมอบพื้นที่ ให้กับผู้รับสัมปทานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อลงมือก่อสร้างภายในปี2564นี้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดอีกรอบ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ระบุถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ว่า สำหรับการปรับย้ายสถานีโครงการฯ ขณะนี้บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) อยู่ระหว่างการศึกษาสถานีเดิมที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาไว้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการปรับแบบสถานีภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ นี้
เบื้องต้นซีพีเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในเมืองที่พัฒนาแล้ว แต่ทางเข้า-ออก ค่อนข้างคับแคบ ซึ่งจะทำให้การจราจรติดขัด รวมทั้งพื้นที่จะพัฒนาเมืองค่อนข้างจำกัด หากซีพีสนใจปรับย้ายสถานีใหม่ จะต้องรับผิดชอบและแบกรับภาระทั้งหมด อาทิ การสำรวจที่ดิน การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ และการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทางรฟท.ก็ยังเดินหน้าเตรียมส่งมอบพื้นที่โครงการฯ เพราะไม่สามารถรอเอกชนได้
“ขณะเดียวกันทางซีพีต้องใช้ระยะเวลาในการออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้าง หากยังดำเนินการปรับแบบสถานีไม่เสร็จจะดำเนินก่อสร้างไม่ทันตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากภายในเดือนตุลาคม 2564 ถึงกำหนดการส่งมอบพื้นที่เฟสแรกช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญา ซึ่งระยะเวลาสัญญาโครงการระบุว่าเอกชนดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับจากวันที่ส่งมอบพื้นที่ เพื่อออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) หลังจากนั้นส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ภายในเดือนตุลาคม 2566”
รายงานข่าวจาก สกพอ. กล่าวต่อว่า สำหรับสัญญาร่วมทุนโครงการฯ ที่ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาสามารถย้ายหรือปรับตำแหน่งสถานีได้ เนื่องจากเดิมตำแหน่งสถานีพัทยา สถานีศรีราชา และสถานีชลบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ของรฟท.ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะของถนนที่ค่อนข้างคับแคบ โดเฉพาะสถานีพัทยา มีถนนเพียง 2 ช่องจราจร หากมีการเพิ่มสถานีบริเวณดังกล่าวจะทำให้การจราจรติดขัด
แต่ที่ผ่านมารฟท.ได้ศึกษาใช้สถานีเดิมของรฟท.เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแทน ทำให้รฟท.ไม่สามารถเวนคืนที่ดินพื้นที่อื่นเพื่อก่อสร้างสถานีและขยายพื้นที่พัฒนาเมืองได้เพราะมีข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยรฟท. เล็งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะมีปัญหาในอนาคต จึงระบุในสัญญาดังกล่าวให้เอกชนสามารถย้ายหรือปรับสถานีได้ ส่วนจะเสนอการปรับสถานีหรือไม่ขึ้นอยู่กับเอกชน
ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข โดยรฟท.ต้องเป็นผู้อนุมัติการย้ายตำแหน่งสถานีโครงการฯ ซึ่งการย้ายสถานีนั้นต้องเป็นประโยชน์กับสาธารณะ หากชาวบ้านหรือประชาชนมีความกังวลในการปรับย้ายสถานีโครงการฯ โดยเอกชนได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่นั้น รฟท.มีสิทธิไม่อนุมัติได้เช่นกัน
ส่วนการเวนคืนที่ดินโครงการฯ ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่เวนคืนที่ดินของส่วนราชการเพื่อดำเนินการจัดทำสัญญาเวนคืนที่ดิน เนื่องจากขณะนี้มีประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องขออนุญาตอีกครั้ง จะใช้ระยะเวลาดำเนินการขออนุญาตเข้าพื้นที่ดังกล่าวภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการทำสัญญาเวนคืนที่ดินอย่างช้าสุดภายในวันที่ 20 มกราคม 2564
คาดว่าจะดำเนินการจัดทำสัญญาในส่วนที่ชาวบ้านยอมรับค่าชดเชยได้ภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ขณะเดียวกันขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน เมื่อสำรวจรายละเอียดแล้วเสร็จจะดำเนินประกาศราคา ซึ่งชาวบ้านจะทราบว่าพื้นที่บริเวณที่ถูกเวนคืนเป็นอย่างไร และดำเนินการจัดทำสัญญาได้ทันที ส่วนชาวบ้านที่ไม่ยอมรับค่าชดเชยดังกล่าวมีสิทธิที่จะขอเจรจาให้รฟท.ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่เวนคืนที่ดินอีกครั้ง คาดว่าจะดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564
สำหรับพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ 900 แปลง ค่าเวนคืนตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่ 3,570 ล้านบาท ทั้งนี้จะมีการประเมินราคาที่ดินอีกรอบ เนื่องจากที่ผ่านมารฟท.ดำเนินการศึกษาราคาประเมินที่ดินเมื่อปี 2560 ก่อนจะนำเสนอเข้าครม.ในปี 2561 แต่ปัจจุบันหลังจากที่ประกาศพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแล้ว เมื่อปลายปี 2563 ที่ปรึกษารฟท.ได้ดำเนินการสำรวจราคาที่ดินซื้อขายจริงอีกรอบ พบว่าราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นในรอบ 3 ปี (2560-2563)
ส่วนราคาประเมินเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำรายละเอียดดังกล่าวเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมฯ ปลายในเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
ส่วนการประเมินราคาที่ดินในครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดทำสัญญาเวนคืนที่ดินกับชาวบ้าน เพราะสัญญาบางส่วนสามารถดำเนินการได้เลย
ขณะที่สัญญาบางส่วนที่ไม่ค่อยมีความชัดเจน เช่น พื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซ้อนทับกับกรมทางหลวง (ทล.) ที่จะดำเนินการสร้างทางยกระดับ ทำให้ยังไม่ได้มีการประกาศราคาพื้นที่ดังกล่าว
รายงานจากรฟท. กล่าวต่อว่า รฟท.มีแผนศึกษาโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา เบื้องต้นเริ่มสำรวจและออกแบบผังอาคารภายในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาแล้ว
หลังจากนั้นจะจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนสิงหาคม 2564 โดยจะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนเมษายน 2565-กันยายน 2566 ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าพักอาศัยภายในเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ปัจจุบันรฟท.และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ได้หารือร่วมกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อร่วมกับบรรเทาผลกระทบให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน เบื้องต้น รฟท.และคณะกรรรมการอีอีซี มีแนวคิดที่จะมอบหมายให้การเคหะฯเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการอาคารเช่าเพื่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
เบื้องต้น รฟท.ให้การเคหะฯ เช่าพื้นที่ราคาถูก บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมานคร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากถนนวิภาวดี 3.8 กิโลเมตร จำนวน 5ไร่ 3 งาน 91 เพื่อพัฒนาเป็นอาคารที่พักอาศัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เช่าในราคาถูก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้วงเงินลงทุนของโครงการฯ การเคหะฯอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง เพื่อจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินลงทุน โดยการเคหะฯจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดและทำหน้าที่ในการบริหารพื้นที่ให้เช่าแก่ประชาชนที่สนใจ
โดยคณะกรรมการอีอีซี รฟท. และการเคหะฯจะต้องเร่งหารือเพื่อสรุปรายละเอียดโครงการทั้งหมดให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 2564 ก่อนลงพื้นที่เพื่อสำรวจรายละเอียดพื้นที่ให้ครบทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาการลุกล้ำพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ รฟท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนที่เจ้าของโครงการให้ทันช่วงต้นปี 2565
สำหรับรูปแบบอาคารที่พักอาศัย เป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ประกอบด้วย อาคารแบบA จำนวน 177 ห้อง อาคารแบบ B จำนวน 183 ห้อง. รวม 360 ห้อง ภายในห้องพักขนาด 33 ตารางเมตร ประกอบด้วย 1 ห้องอเนกประสงค์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และระเบียง โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งห่างจากถนนวิภาวดีรังสิตเพียง 3.8 กิโลเมตร (กม.)
หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3645
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ขอเวนคืนที่สร้างไฮสปีดเพิ่ม 3จุด
ลุยไฮสปีด เฟส 2 บูมระยอง-จันทบุรี-ตราด
เวนคืน 3,000หลัง ลากไฮสปีด ‘อู่ตะเภา-แกลง’
ดึงสปก.7หมื่นไร่ ปั้นเมืองใหม่EEC ชงกพอ.ไฟเขียว3ตำบล จ.ชลบุรี