นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) พร้อมคณะผู้เกี่ยวข้อง ในวันที่ 19 มกราคม 2564 เพื่อหารือกับ เอื้ออารี ตรีโสภา รองประธานบริหารบริษัท ซิโนพอร์ท จำกัด ในการเปิดใช้เป็นท่าเรือสำหรับให้บริการเรือโดยสารข้ามฟาก เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนย่านฝั่งธนกับชุมชนย่านตลาดน้อยฝั่งพระนคร โดยใช้ท่าเรือกรมเจ้าท่า เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ ระหว่าง ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) - ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือปากคลองสาน
ประกอบกับในอนาคตจะเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ท่าเรือกรมเจ้าท่า - ท่าเรือภานุรังษี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการสัญจรทางน้ำ และนักท่องเที่ยว คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่กรมเจ้าท่าทำให้กับประชาชน
ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของสถานที่แห่งนี้ ที่มาชื่อว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” เป็นภาษาจีน เขียนว่า 火 船 廊 หมายถึง “ท่าเรือกลไฟ” ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน “หวั่งหลี” ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม
โดยบรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยท่าเรือนี้ มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” คือ ท่าเรือกลไฟ ซึ่งเป็นเรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศไทย และได้มาเทียบท่าเรือขึ้นฝั่งที่ท่าแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ
ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ค่อย ๆ ลดบทบาทลง ในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ตระกูล “หวั่งหลี” โดยนาย ตัน ลิบ บ๊วย จึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือฯ ดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงาน และโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี ที่ขนส่งมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานของตระกูลหวั่งหลี รวมถึงเก็บรักษาศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าเรือล้ง 1919 ฝั่งธนฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย เป็นที่เที่ยวแนว Heritage อีกแห่งที่น่าสนใจมาก ๆ ด้วยการพลิกฟื้นอดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีบทบาทสำคัญของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย - จีน ที่มีการค้าขายสินค้าผ่านการขนส่งทางน้ำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ได้มีการหารือเพื่อจัดหาสถานที่จอดรถบริเวณท่าเรือหวั่งหลี "ล้ง 1919" จำนวน 30 คัน เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ที่พักอาศัยอยู่บริเวณฝั่งธน ทั้งนี้ เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แก้ไขปัญหาการจราจรฝั่งธน และเพิ่มจุดลดความแออัดในเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ พร้อมเชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ อีกทั้ง เป็นการเชิญชวนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ได้มาใช้บริการท่าเรือหวั่งหลี "ล้ง 1919" สถานที่ที่สวยงาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
พร้อมกันนี้ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 กรมเจ้าท่า จะมีการจัดงานครบรอบ 1 ปี ของการประดิษฐาน "พระพุทธโลกุตรธรรมประชานาถ" พระพุทธรูปประจำกรมเจ้าท่าโดยมีกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ มอบเครื่องหมายนำร่องแก่ผู้บริหาร พิธีเปิดอาคารเรือนพระยาวิสูตรสาคร จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เชิญชวนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ แขกผู้ร่วมงาน และสื่อมวลชน นั่งเรือข้ามฟากมาเที่ยวชมความงามของท่าเรือหวั่งหลี "ล้ง 1919" แห่งนี้อีกด้วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ไปรษณีย์ไทย" ประกาศรับสมัคร ซีอีโอ หลัง "ก่อกิจ" โบกมือลา