หลายคนอาจสงสัย เหตุใดการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จึงเป็นจ้าวแลนด์ลอร์ด มีที่ดิน186ไร่124แปลง ติดถนนรัชดาภิเษกทั้งๆที่ ไม่ใช่เขตทางรถไฟ “ฐานเศรษฐกิจ”สอบถาม นาย วราวุธ มาลา อดีตรองผู้ว่าการ รฟท. ไขปมข้อสงสัย ถึงที่มาที่ไปของแปลงที่ดิน ทำเลทองผืนนี้ว่า ก่อนปี2521 หรือก่อนที่พระราชบัญญัติ(พรบ.)เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ประกาศใช้ รฟท. ต้องการสร้างทางรถไฟสายใหม่เส้นทางลัดผ่านเขตเมือง ไปภาคตะวันออก ของประเทศ
จากสถานีบางซื่อ เชื่อมไปสถานีคลองตัน ระหว่างทางได้เวนคืน ที่ดินตั้งแต่ วิภาวดี-รังสิต ผ่านห้วยขวาง ดินแดง เข้าศูนย์วัฒนธรรม ออกบริเวณด้านข้างกรมการผังเมือง(กรมโยธาธิการและผังเมือง) ทะลุถนนพระราม9 อาร์ซีเอ (ปัจุบัน)ก่อนไปบรรจบที่สถานีคลองตันแต่ ยังไม่ทันได้ลงมือก่อสร้าง รัฐบาลในสมัยนั้นให้ความสำคัญกับการขนส่งทางบกมากกว่าระบบราง จึงเปลี่ยน จากการก่อสร้างทางรถไฟ เป็น การก่อสร้างถนนรัชดาภิเษกแทน( ถนนวงแหวนรอบใน) ตอนพระราม9-ลาดพร้าว-วิภาวดีฯ ใช้สัญจรมาจนถึงปัจจุบัน ปลุกความเจริญนับจากนั้นเป็นต้นมา
ด้วยเหตุนี้ จึงเหลือเขตทางรถไฟเวนคืนตลอดแนวฝั่งตะวันตกของถนนรัชดาฯ วัดจากถนนเข้าหาแผ่นดิน40เมตร กลายเป็นทำเลทอง ติดถนนสายหลักแนวรถไฟฟ้ามีผู้เช้าเหนียวแน่น ตั้งแต่จุดตัดของถนนวิภาวดีฯ ผ่านสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รัชโยธิน ข้ามถนนพหลโยธินบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน (สน.พหลโยธิน) ผ่านกลุ่มศาลอาญา บริเวณนี้มีชุมชนหนาแน่น มหาวิทยาลัยคอนโดมิเนียม ( อนาคตมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายพาดผ่านเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวผ่านเส้นพหลโยธิน )
จากนั้น ผ่านแยกถนนลาดพร้าง-รัชดาฯ โรงแรมเดอะบาซาร์ แบ็งคอก โรงแรมเจ้าพระยา โรงแรมดิเอมเมอรัล ไปจนถึงศูนย์การค้าเดอะสตรีท แยกศูนย์วัฒนธรรมไปถึงอาร์ซีเอ พระราม9และ รฟท. สามารถ ปล่อยเช่า หารายได้เข้าองค์กร ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายเวนคืน เพราะได้ที่ดินมาก่อนมีกฎหมายเวนคืนดังกล่าวที่มีข้อห้ามนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ที่ผ่านมา แบ่งซอย แปลงที่ดินตามความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าเต็มทั้ง124แปลง124สัญญา186ไร่
โดยเฉพาะแปลงที่กำลังขอต่อสัญญา 30ปี (หมดสัญญาปี2567 )พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ จากสถานบริการอาบ-อบ-นวด โพไซดอนเป็นโรงแรม3ดาว ของนางพรทิวา นาคาศัย หรือ นางพรทิวา ศักดิ์ศิริเวทย์กุล อดีตนักการเมืองชื่ดัง โดยให้เหตุผลว่าจากสถานการณ์โควิด-19คนให้ความสนใจลดลง จึงขอรฟท.เปลี่ยนแปลงการใช้ดังกล่าว
ขณะ รฟท. ยืนยันว่า อยู่ระหว่างพิจารณาและประเมินมูลค่าทรัพย์สินสัญญาเช่าที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก 124 แปลง (124 สัญญา) ตั้งแต่แยกศูนย์การค้าเดอะสตรีท ไปตลอดแนวจนถึงสำนักงานใหญ่ SCB และจุดตัดถนนวิภาวดีรังสิต ที่ทยอยหมดสัญญาเช่าในปี 2563-2567 อาทิพื้นที่ลานจอดรถของศูนย์การค้าเดอะสตรีท ที่จอดรถโรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ สถานบริการอาบอบนวดโพไซดอน สถานีตำรวจสุทธิสาร สถานีตำรวจพหลโยธิน ศาลอาญา บางกอกไนซ์บาซาร์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา รฟท.มีรายได้จากค่าเช่าย่านถนนรัชดาฯเฉลี่ยปีละ 200 กว่าล้านบาท หากมีการเจรจาต่อสัญญาใหม่จะทำให้ ร.ฟ.ท.ได้ค่าเช่าเพิ่มปัจจุบันผู้เช่าหลายแปลงแจ้งความประสงค์จะต่อสัญญาเช่า บางรายอนุมัติไปแล้ว บางรายขอดัดแปลงอาคารใหม่ให้สอดรับกับเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนที่คณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติต่อสัญญาแล้ว อาทิ บริษัทแบงค์ค็อกไนท์บาซาร์ เจ้าของโครงการบางกอกไนท์บาซาร์ แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว เนื้อที่ 9 ไร่ โดยต่อให้อีก 30 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2592 รฟท.ได้ผลตอบแทน 5,000 ล้านบาท และต่อสัญญาเช่าที่ดิน 7 ไร่ ให้กับ บริษัทไทยวัฒน์เคหะ อีก 20 ปี เริ่มปี 2565-2585 ได้ค่าตอบแทน 83 ล้านบาท
ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อสัญญา อย่างที่ดินแปลง บริษัท โพไซ ดอน เนื้อที่ 15.4 ไร่ เมื่อเดือน มิถุนายน 2559ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือขอต่อสัญญาอีก 30 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 29กุมภาพันธ์2567 พร้อมกับขอปรับปรุงดัดแปลงอาคารสูง 11 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 10,656 ตร.ม. ปัจจุบันประกอบธุรกิจอาบอบนวด สู่ธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาว วงเงิน 200 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจเข้าสู่ช่วงขาลง ประกอบกับมีภาระต้นทุนมากขึ้น ล่าสุดยังมีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้การเช่ามี 2 สัญญา คือ สัญญาสร้าง 4 ปี วันที่ 1 มี.ค. 2533-วันที่ 28 ก.พ. 2537 และสัญญาจัดหาประโยชน์ที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2537-29 ก.พ. 2567 มีอาคาร 11 ชั้น เป็นสถานที่อาบอบนวดโพไซดอน 1 อาคาร และอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 32 คูหา และ 7 ชั้น 3 คูหาเป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง