หลังที่ดินแปลงA เนื้อที่ 32 ไร่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาทของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ในรูปแบบรัฐร่วมเอกชนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนปี 2556 หรือ PPP ส่งผลให้ กระทรวงคมนาคม มอบให้รฟท.ปรับรูปการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์บริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ ทั้ง 9 แปลง 2,352 ไร่ เป็นประมูลเช่าระยะยาวลดขั้นตอนการดำเนินงาน สะดวกต่อการดึงคนเข้าพื้นที่รองรับความเป็น “ฮับ” หรือ ศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมโยงคมนาคมทางรางทันสมัยและใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2564 พร้อมกับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันวิ่งเข้าจอด ภายในสถานีกลางบางซื่อ นอกจากสายสีนํ้าเงิน และในอนาคต จะมีเส้นทางรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายใหม่อีกทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมการเดินทางจากฮับบางซื่อสู่ภูมิภาค สร้างความเจริญให้กับพื้นที่
งัดที่5แปลงล่อใจบิ๊กทุน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่าได้มอบนโยบายให้กับรฟท.เร่งรัดหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากพื้นที่โดยรอบดังกล่าวมีพื้นที่ค่อนข้างมาก มีศักยภาพและสามารถสร้างรายได้ให้รฟท.ได้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าพื้นที่พร้อมพัฒนาในขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.แปลงที่มีความพร้อมของพื้นที่ประกอบด้วย แปลง A แปลง B แปลง D แปลง E และแปลง G และ 2.แปลงที่ยังติดปัญหาต้องรื้อย้าย ประกอบด้วย แปลง C แปลง F แปลง H และแปลง I เบื้องต้นสั่งการให้รฟท. เร่งนำพื้นที่ที่มีความพร้อมแล้วจัดเตรียมข้อมูลและเปิดประกาศเชิญชวน ภายในปี2564โดยให้ดำเนินการศึกษาข้อกฎหมายและรอบคอบ
“พื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อทั้ง 5 แปลงที่มีความพร้อมแล้วต้องเร่งนำมาเปิดประมูลให้ได้ภายในปีนี้ จะทำอย่างไรก็ขอให้การรถไฟฯ ไปดำเนินการจัดทำแผนขณะเดียวกันต้องสร้างรายได้มากพอกับค่าใช้จ่าย และขอให้ทำแผนแต่ละพื้นที่พัฒนาด้วย จะต้องมีทั้งที่ทำงานที่อยู่อาศัย และการอุปโภคบริโภค ส่วนแปลงที่เหลือให้เร่งแก้ไขและกำหนดเปิดไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้ตามแผนเราจะเปิดพีพีพีหาเอกชนเข้ามาบริหารสถานีกลางบางซื่อและรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่แล้ว แต่ในระหว่างนี้ที่รฟท.ต้องบริหาร มีค่าใช้จ่ายอยู่รวม 4 ปี กว่า 1.4 พันล้านบาท ดังนั้นต้องหารายได้ให้เพียงพอหรือมากกว่า ซึ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์จะทำแบบไหนก็ให้ไปศึกษามารูปแบบจะจ้างงานให้กับกลุ่มเอกชนที่มีความชำนาญ (เอาต์ซอร์ส) ได้ ขอให้ศึกษาทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย”
ปั้นเมืองมิกซ์ยูส
แหล่งข่าวจากรฟท.ระบุว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบสถานีกลางบางซื่อที่มีความพร้อมพัฒนาแล้วทั้ง 5 แปลง รวมพื้นที่กว่า 570 ไร่ ประกอบด้วย แปลง A พื้นที่ 32 ไร่ ที่ รฟท.เคยเปิดประมูลไปแล้ว แต่ไม่มีเอกชนยื่นข้อเสนอ มูลค่าพื้นที่ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ตามแผนจะพัฒนาในลักษณะมิกซ์ยูส มีทั้งห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรม ขณะที่แปลง B พื้นที่ประมาณ 73 ไร่ อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาผสมผสานหลากหลายรูปแบบ ด้านแปลง D พื้นที่ราว 32 ไร่ อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินและสายสีเขียว ติดบริเวณย่านพาณิชยกรรมริมถนนพหลโยธินและตลาดนัดจตุจักร ปัจจุบันมีสัญญาเช่าอยู่กับโครงการ JJ Mall ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ถือว่ามีศักยภาพสูง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อยอดการพัฒนาแบบมิกซ์ยูสได้อย่างดี
ทุนจ้องทึ้งกม.11
ส่วนแปลง E มีพื้นที่ราว 79 ไร่ รฟท.เคยทำการศึกษาจะนำมาเปิดประมูลพร้อมกับแปลง A เพื่อดึงดูดนักลงทุน ประเมินมูลค่าที่ดินไม่ตํ่ากว่า 3 หมื่นล้าน โดยพื้นที่ส่วนนี้อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ รองรับการพัฒนามิกซ์ยูส และแปลง G เป็นแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากเป็นบ้านพักพนักงานบริเวณย่าน กม.11 ขนาดพื้นที่ 359 ไร่ ศักยภาพในการพัฒนาแตกต่างกันออกไป โดยด้านตะวันตกและตะวันออกของพื้นที่ มีระยะเดินเท้าที่สามารถเดินถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีนํ้าเงินและสายสีเขียว ส่วนพื้นที่ตอนกลางสามารถพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสได้ แต่จำเป็นต้องเพิ่มระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง
แหล่งข่าวจากรฟท. เสริมว่าที่ดิน ทั้ง 5 แปลง ที่มีความพร้อมจะเปิดประมูลแบบเช่า ระยะพัฒนาประมาณ 4 ปี ซึ่งอาจเป็นได้ว่าจะ เป็นได้ทั้งเอกชนรายเดียว เหมาทั้ง 5 แปลงหรือ เอกชนเช่ารายแปลงก็ได้ทั้งนี้หากพัฒนาแล้วจะมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า6หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เอกชนได้ให้ความสนใจที่ดินรอบสถานีกลางบางซื่อ โดยเฉพาะหากรฟท. เปิดประมูลผืนใหญ่ติดต่อกัน บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) สนใจเช่าแบบรวมแปลง ร่วมทั้งกลุ่มบีทีเอสกรุ๊ปได้ให้ความสนใจที่ดินบริเวณกม.11
ตั้งบริษัทลูกดูแลที่ดิน
ส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท.กล่าวว่ารฟท.อยู่ระหว่างการสรรหากรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการตั้งต้นรวม 9 คน ส่วนกระบวนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกินเดือนเมษายน 2564
ขณะเดียวกันหลังจากจัดทำกระบวนการจัดตั้งบริษัทลูกและสรรหาบอร์ดรวมกรรมการผู้จัดการแล้วเสร็จ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรฟท.และบริษัทลูก เพื่อโอนงานหรือโอนทรัพย์สินที่ดินของรฟท.ที่มีอยู่ราว 3.8 หมื่นไร่ มอบให้บริษัทลูกนำไปดูแลบริหารและพัฒนาต่อ
ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564