PPS กางแผนปี 64 ลุยประมูลงานรัฐ กู้รายได้

02 มี.ค. 2564 | 07:00 น.

PPS กางแผนธุรกิจปี 64 มุ่งเน้นยื่นประมูลงานภาครัฐ ขณะโครงการแหลมยามู ปรับแผนธุรกิจ มองหาพันธมิตรร่วมทุน พร้อมผุดบริการ PROPTECH ขยายฐานลูกค้าใหม่ หลังผลประกอบการปี 63 ยังติดลบ

นาย พงศ์ธร ธาราไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานปี2564ว่า บริษัทเตรียมความพร้อมยื่นเสนองานภาครัฐที่จะออกมาตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการที่ทยอยลงทุนหลายงาน โดยบริษัทหวังจะได้รับส่วนแบ่งจากงานกลุ่มนี้เพิ่มเติม ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนงานภาครัฐเป็น 50% ภาคเอกชน 50% จากปี 63 ที่สัดส่วนงานภาครัฐอยู่ที่ 30% ภาคเอกชน 70%

ขณะที่ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามู จ.ภูเก็ต บริษัทวางแผนธุรกิจใหม่ เพิ่มความสามารถในการขาย ขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นศูนย์สุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและกลุ่มนักลงทุน ซึ่งคาดว่าการลงทุนในจังหวัดภูเก็ตยังเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนนานาชาติ โดยปัจจุบันบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้าง และรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากการก่อสร้างวิลล่าผ่านบริษัทย่อย มูลค่า 174 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาบริการเสริม PROPTECH https://proptech.ppsic.co.th เทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริงที่สามารถเข้าไปชมพื้นที่แบบจำลอง รองรับการออกแบบฟังก์ชั่นการตกแต่ง และสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์หรือปรับแต่งอุปกรณ์ภายในบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่ตามต้องการได้ สามารถใช้เป็น Showroom เสมือนจริง เพื่อเสริมความสามารถทางการขายได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากพัฒนาเพื่อรองรับการออกแบบของโครงการลักซ์ชัวรี่วิลล่าในที่ดินแหลมยามู แล้ว PPS ยังมีแผนที่จะขยายบริการให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต

PPS กางแผนปี 64 ลุยประมูลงานรัฐ กู้รายได้


 

“ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง บริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์ขยายขอบเขตการรับงาน พัฒนาบริการเสริม มองหาโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันหลังวิกฤต Covid-19 และเพื่อสร้างรายได้ทดแทน อย่างไรก็ตาม จากแผนการดำเนินงานในปีนี้ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เชื่อว่าจะทำให้บริษัทสามารถมีรายได้ และจะเห็นความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น” นายพงศ์ธร กล่าว

PPS กางแผนปี 64 ลุยประมูลงานรัฐ กู้รายได้

ปัจจุบันบริษัทมีงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการอาทิ โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี  การศึกษาเพื่อการออกแบบรถไฟทางคู่ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ งานกรมโยธาธิการและผังเมือง Emsphere  Block H The Custom House Holiday Inn Express Samui & Holiday Inn Resort Samui  โครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในเครือ CPN โครงการค้าปลีกจากกลุ่มโลตัสและโฮมโปร และอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาโครงการก่อสร้างงานภาครัฐ 

อาทิ งานอาคารผู้โดยสาร อาคารสำนักงานสนามบิน งานศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีรถไฟ ขณะที่ภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนในบางกลุ่มธุรกิจ ซึ่งบริษัทได้มอบหมายให้มีผู้ติดตามงานเฉพาะเพื่อยื่นประมูลงานต่อไป ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ประมาณ 557 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 278 ล้านบาท

PPS กางแผนปี 64 ลุยประมูลงานรัฐ กู้รายได้

สำหรับผลประกอบการปี 63 บริษัทมีรายได้รวม 409.65 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 466.75 ล้านบาท จำนวน 57.10 ล้านบาท หรือลดลง 12.23% และมีขาดทุนสุทธิ 26.13 ล้านบาท โดยมีกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.44 ล้านบาท จำนวน 33.57 ล้านบาท หรือลดลง 451.21%

ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัทปรับตัว ลดลง เนื่องจากในปี 2562 บริษัทย่อยแห่งหนึ่งมีรายได้ที่ได้รับจากโครงการระยะสั้น และในปี 2563 นี้ โครงการขนาดใหญ่ที่บริษัทได้รับงานมาในปีก่อนหน้าเข้าสู่ช่วงการส่งมอบงาน อีกทั้งกลุ่มบริษัทเองก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลให้แผนการดำเนินงานในบางโครงการของลูกค้าต้องถูกชะลอไปอันเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่มีต้องมีการปรับวิถีการดำเนินชีวิต ทำให้โครงการต่าง ๆ ต้องพิจารณาวางแผนในการกำหนดรูปแบบของโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนไปด้วย บริษัทมีต้นทุนบริการและค่าใช้จ่ายบริหารลดลง แต่ไม่ได้ลดลงในสัดส่วนที่สัมพันธ์กับรายได้ เนื่องจากบริษัทยังคงต้องใช้บริการบุคลากรจากภายนอกเพื่อทำงานในโครงการภาครัฐ และมีค่าใช้จ่ายจากการขยายพื้นที่สำนักงาน

รวมถึงค่าธรรมเนียมอันเนื่องมาจากการออกหุ้นกู้ เช่น ค่าประเมินหลักประกัน และค่าธรรมเนียมในการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2563 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับตัวลดลง บริษัทได้บันทึกผลขาดทุนจากการไถ่ถอนหุ้นกู้อนุพันธ์และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 15.77 ล้านบาท