หลังจากทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศปั่นป่วนจากโจทย์ใหม่ โดย “ไวรัสโควิด-19” ได้เข้ามาท้าทายทุกมิติ ตั้งแต่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก วิถีดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปจากปกติอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผู้พัฒนาฯ ต่างต้องตั้งแผนเผชิญวิกฤติในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การปรับเป้ายอดขาย-รายได้ให้สอดคล้องกับสภาวะ, แผนทางการตลาด- ช่องทางการขายใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นลูกค้า ไปจนถึงการชะลอก่อสร้าง และเปิดโครงการใหม่บางโครงการลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายตุนเงินในกระเป๋าให้ได้มากที่สุด
ภายใต้ภาพไม่ชัด ว่าวิกฤติจะจบลงเมื่อไร ซ้ำร้ายเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลับเผชิญกับโควิดระลอก 2 ยากจะเข็นกำลังซื้อ จากภาระหนี้และความไม่แน่นอนของรายได้ลูกค้า เกิดการระเบิดศึก หั่นราคาขายครั้งใหญ่ เพื่อกู้ทั้งรายได้และสภาพคล่อง จบปีตลาดหดตัว ในแง่โอนกรรมสิทธิ์ราว 10%
ขณะบริษัทต่างๆ แม้พยายามรักษาระดับของการโอนฯ และความสามารถในการทํากําไร แต่กลับไม่รอดซะทุกราย มีเพียงบางราย ที่ผลประกอบการยังเป็นที่น่าพอใจ สะท้อนถึงการรับมือได้อย่างดี โดยบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่า สำหรับปี 2563 นั้น บริษัทบรรลุเป้าหมายในแง่รายได้ และทําสถิติสูงสุดในอุตสาหกรรมที่ 29,888 ล้านบาท หลังจากยอดขายในสินค้าบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ ที่โดดเด่น
ผลักดันให้รายได้ทั้งปีในกลุ่มแนวราบ ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 32.5% ขณะเดียวกัน แม้สภาพตลาดคอนโดมิเนียม จะค่อนข้างซบเซา แต่สามารถปิดการโอนกรรมสิทธิได้ 6 โครงการ โดยเฉพาะโครงการร่วมทุน ช่วยเพิ่มรายได้สูงสุด 16,239 ล้านบาท ส่งผลภาพรวมกำไรพุ่งสูงกว่า 37% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด ขณะ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งมีตัวเลขกำไรสุทธิสูงสุด 7,144 ล้านบาท แต่นับว่าเป็นสัดส่วนที่ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 28.73% โดยบริษัทให้เหตุผลว่า มาจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมหดตัว จากสถานการณ์โควิด-19 และกำไรขั้นต้นจากการขายปรับลดลง จากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดแนวราบ ด้าน บมจ.ศุภาลัย สรุปปี 2563 มีกำไรสุทธิราว 4,251 ล้านบาท ลดลง 21% จากปีก่อน
เนื่องจาก ระบุว่า รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง โดยเฉพาะจากกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม หลังจากช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทมีโครงการสร้างเสร็จและครบกําหนดโอนฯ ถึง 5 โครงการ แต่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่สามารถทำยอดได้ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม รายได้จากบ้านและทาวน์เฮาส์ปรับตัวดี เป็นสัดส่วนขับเคลื่อนได้ถึง 68% ส่วนบมจ. พฤกษา รายงานว่า บริษัทมียอดขาย และรายได้จากการขายโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้าน, ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมที่ลดลง
ซึ่งมาจากจำนวนโครงการที่เปิดตัวน้อยแค่ 13 โครงการในปีนี้ หลังจากได้ประเมินและทำแผนตั้งรับกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และกังวลต่อมาตรการ LTV ทำให้ปี 2563 บริษัท มีรายได้ลดลง 26.7% ที่ 29,244 ล้านบาท ขณะกำไรสุทธิก็ลดลงเช่นกันสําหรับบมจ.เอสซี ปี 2563 นั้น บริษัทมีรายได้จากการดําเนินงาน 18,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,340 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเติบโตของจากการขายโครงการแนวราบเติบโตถึง 27% อย่างไรก็ตาม จากการปรับราคาเพื่อแข่งขันในตลาด ทำให้กําไรสุทธิปรับลดลงเล็กน้อย
สำหรับ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ระบุว่า นอกจากบริษัทได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักช่วงโควิด-19 แล้ว แม้จะมีการปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้อง ทั้งปรับเป้ายอดขาย ลดการเปิดโครงการใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้น แต่รายได้จากการขายโครงการที่พักอาศัยทั้งคอนโดมิเนียมและบ้าน ยังปรับลดลงจากปีก่อน มากกว่า 31% ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง 42.97% อย่างไรก็ตาม พบบริษัทมีรายได้จากธุรกิจเช่า-บริการเพิ่มขึ้นดี จากการปล่อยเช่าโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 (เฟส 3) และรายได้ค่าบริหารโครงการเพิ่ม รวมถึง แง่ยอดขายกลุ่มแนวราบ New high
ในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับ บมจ.อนันดา ที่อยู่ในภาวะขาดทุน จากการลดลงของรายได้การขาย และส่วนแบ่งจากโครงการร่วมทุนที่ลดลง ทั้งนี้ ยังต้องจับตาดูถึง การประกาศผลประกอบการอีก 3 รายสำคัญ ทั้ง บมจ.แสนสิริ ที่แจ้งว่าปีที่ผ่านมา มียอดการโอนกรรมสิทธิ์สูง 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในสัดส่วนสูง แต่คาดกำไรจะลดลง จากกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้ก่อนหน้า รวมถึง บมจ.ออริจิ้น และบมจ.เสนาฯ ที่อยู่ระหว่างรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564