ธุรกิจช็อปปิ้งออนไลน์ ในประเทศไทย ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องในปี 2563 ด้วยมูลค่ารวม 2.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 4-5% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ และมีการเติบโตสูงถึง 35% จากปีก่อนหน้า คือ อีกโอกาสครั้งสำคัญ ของตลาดโลจิสติกส์ ธุรกิจคลังสินค้าและโรงงาน โดยคาดปีนี้ จะขึ้นแท่นเป็นดาวเด่นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ท่ามกลางธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก ที่มีความไม่แน่นอนสูง จากดีมานด์ความต้องการหยุดชะงัก
โดยซัพพลายเชน ผู้ผลิตชาวต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าจีน ที่อยู่ระหว่างพิจารณา และรอเซ็นสัญญา ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จะด้วยเหตุจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่มีสัญญาณชัดเจนขึ้น ทำให้ต้องมองหาฐานกระจายสินค้าใหม่ หรือจุดแข็งด้านสาธารณสุขไทยก็ตามนั้น ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายราย ยังคงมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะมีโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเปิดบริการใหม่อีกกว่า 500,000 ตารางเมตร (แล้วเสร็จ)
“ทำเลโดดเด่น ถนนบางนา-ตราด และย่านเทพารักษ์ บนพื้นที่รวมกว่า 150 ไร่ และสามารถพัฒนาเป็นโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าประมาณ 150,000 ตารางเมตร และในพื้นที่อีอีซีอีกกว่า 300,000 ตารางเมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีนี้”
ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบแผนพัฒนาของผู้ประกอบการหลายสำคัญ พบปีนี้ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA มีแผนพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ถึง 5 โครงการ รวมพื่นที่ 400,000 ตารางเมตร ขณะรายใหญ่ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT ผู้นำ อาคารประเภท Built- to-Suit (สร้างตามความต้องการ) ตามแผนระบุ จะเปิดใหม่ราว 200,000 ตารางเมตร ซึ่งจุดแข็งยังเป็นเรื่อง ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของพื้นที่อุตสาหกรรม ด้าน บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ ในเครือบมจ. มั่นคงเคหะการ หรือ MK มีแผนขยายถึง 3 แห่ง (บางนา-ตราด, บางพลี) ในโครงการบางกอกฟรีเทรด รวม 70,000 ตารางเมตร และในรูปแบบ Built-to-Suit อีก 100,000 ตารางเมตร
ขณะล่าสุดน่าจับตา พบผู้เล่นสำคัญในกลุ่มที่อยู่อาศัย อย่าง บมจ.ออริจิ้น กำลังแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) และกระจายความเสี่ยงมายังตลาดโลจิสติกส์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับรายใหญ่ บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิติกส์ โดย นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น ระบุว่า ปีนี้ จะนำร่องรวม 2 โปรเจ็กต์ เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท รวมพื้นที่คลังสินค้า ขนาด 62,000 ตารางเมตร บนทำเลยุทธศาสตร์บางนา กม. 22 รวมถึงความเคลี่อนไหวจากแผนของบมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ และ บมจ.ชีวาทัย อีกด้วย
คอลลิเออร์สฯ ยังเปิดเผยว่า ณ ครึ่งปีหลัง 2563 มีพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในไทยถูกใช้ไปแล้วทั้งหมด 6.092 ล้านตารางเมตร จากทั้งหมด 6.963 ล้านตารางเมตร หรือ 87.5% โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงมีอัตราการเช่าสูงสุดประมาณ 90.7% รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีความต้องการด้านโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง เชื่อมกับศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้าที่ 91% ตามด้วยพื้นที่อีอีซี อัตราการเช่า 78.2% จากลูกค้าภาคธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเภสัชกรรม เป็นต้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564