"บขส."อ่วม เล็ง พักชำระหนี้ ค่าเช่า "สถานีขนส่งหมอชิต2 " ที่ดินรถไฟฯ

20 มี.ค. 2564 | 01:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2564 | 08:57 น.

   "บขส."โอดหลังลดพื้นที่เช่ารฟท. 58 ไร่ รฟท.ปรับเพิ่ม 5% สถานีขนส่งหมอชิต2เล็งทำฟีดเดอร์เชื่อมสถานีกลางบางซื่อ จ่อพักชำระหนี้ เหตุโควิดรอบใหม่พ่นพิษ กระทบรายได้หด 70-80% เร่งประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4 แปลง มูลค่า 7.5 พันล้าน

 

 

 

 

             นายสัญลักข์ ปัญจวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการต่อสัญญาค่าเช่าที่ดินของบขส.ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 เบื้องต้นได้หารือกับรฟท.ในหลักการแล้ว ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมโดยให้บขส.ดำเนินการเช่าที่ดินของรฟท.เบื้องต้นจะขอลดพื้นที่เช่าจากเดิม 72 ไร่ เหลือเพียง 58 ไร่ โดยจะคืนพื้นที่บางส่วนให้กับรฟท.ดำเนินการทำรถชัตเตอร์บัสเพื่อเชื่อมต่อระบบการเดินทาง (ฟีดเดอร์) ระหว่างสถานีกลางบางซื่อและสถานีขนส่งผู้โดยสารสถานีหมอชิต 2 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้

                “ส่วนสาเหตุที่บขส.ลดค่าพื้นที่ลง เนื่องจากเล็งเห็นว่า เรามีความจำเป็นในการใช้พื้นที่เพียงเท่านี้ รวมทั้งรูปแบบการเดินทางในปัจจุบันเปลี่ยนไป หากในอนาคตมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามาที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ จะส่งผลให้ปริมาณการใช้รถโดยสารของบขส.น้อยลง ซึ่งเราคงต้องวางแผนต่อไปในอนาคต”

               

 

 

นายสัญลักข์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบขส.อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาแนวทางการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้รฟท. เป็นรูปธรรมและชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาบขส.ได้เจรจากับรฟท.เพื่อขอผ่อนชำระค่าเช่าพื้นที่ให้กับรฟท. เบื้องต้นอาจจะมีการพักชำระหนี้ก่อน 1 เดือน เพราะติดปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้บขส.ขาดทุนและมีรายได้ลดลง กว่า 70-80% ทำให้งบประมาณในปัจจุบันของบขส.อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท หากบขส.ขาดทุนต่อเนื่องคาดว่าภายใน 2 ปี งบประมาณอาจจะหมดได้ จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือน

                “เรายืนยันยังไม่มีการย้ายพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารสถานีหมอชิต 2 ไปอยู่บริเวณย่านพหลโยธิน แน่นอน ทั้งนี้บขส.มีสนใจพื้นที่ในโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุพหลโยธิน หรือหมอชิตคอมเพล็กซ์ เพื่อดำเนินการใช้ประโยชน์ เนื่องจากนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด บขส.ได้มอบนโยบายในระยะแรกให้บขส.ดำเนินการนำรถตู้และรถมินิบัสเพื่อเชื่อมต่อระบบการเดินทาง (ฟีดเดอร์) เนื่องจากบขส.ลดพื้นที่เช่าลง ซึ่งต้องปรับรูปแบบการรับ-ส่งผู้โดยสารในเมืองมากขึ้นเพื่อสะดวกต่อการเดินทางขึ้นโทลล์เวย์ คาดว่าในอนาคตจะดำเนินการสร้างสะพานลอย (สกายวอล์ก) ระหว่างสถานีขนส่งหมอชิต 2 และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมถึงกันได้”

                ทั้งนี้บขส.มีแผนจะเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด

4 แปลง ประกอบด้วย 1.สถานีเอกมัย จำนวน 7 ไร่ วงเงิน 2,500 ล้านบาท 2.สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ (บริเวณสามแยกไฟฉาย) จำนวน 3 ไร่ วงเงิน 428 ล้านบาท 3.สถานีปิ่นเกล้า จำนวน 15 ไร่ วงเงิน 4,600 ล้านบาท 4.สถานีชลบุรี จำนวน 5 ไร่ วงเงิน 13 ล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ให้กับบขส.คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งจะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม (บอร์ด) บขส.เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

                รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการบริหารทรัพย์สิน ได้เห็นชอบตามที่ รฟท.เสนอให้พิจารณาการคิดอัตราค่าเช่าที่ดินกับบขส.ดังนี้ 1.อัตราค่าเช่าจากฐานปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราเช่าเดิม 5% ต่อปี ค่าเช่ารวมเป็นเงิน จำนวน 622 ล้านบาท โดยบขส.ได้ชำระไว้บางส่วน จำนวน 370 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างสะสมค้างชำระ 251 ล้านบาท และ 2.ฐานอัตราค่าเช่า 2.75% ของราคาประเมินที่ดิน พื้นที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ จำนวน 115,207 ตารางเมตร ให้ส่วนลด 25% และพื้นที่เชิงพาณิชย์ จำนวน 3,120 ตารางเมตร ไม่มีส่วนลด ค่าเช่ารวมเป็นเงิน จำนวน 1,145 ล้านบาท โดยบขส.ได้ชำระไว้บางส่วน จำนวน 370 ล้านบาท

 

 

 

มีส่วนต่างสะสมค้างชำระเป็นเงิน จำนวน 774 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเช่าระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2547-29 กุมภาพันธ์ 2564 หากบขส.ไม่ยอมรับอัตราค่าเช่ารฟท.จะรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาสั่งการให้บขส.ดำเนินการยุติไปก่อน หากยังคงมีข้อพิพาทระหว่างรฟท.กับบขส.ไม่ได้ข้อยุติอีก รฟท.จะดำเนินการส่งเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้สำนักงานอัยการสูงสุดรับไว้พิจารณาหาทางยุติข้อพิพาทระหว่างรฟท.กับบขส.ต่อไป

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง