การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มอบศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขันสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ดำเนินโครงการทบทวนผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เช่าอาคารและสนามกอล์ฟรถไฟหัวหินที่สถานีหัวหิน ระยะยาว ซึ่งในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์โครงการเตรียมจัดทดสอบความสนใจผู้ประกอบการ เอกชน(Market Sounding ) วันที่ 24 มีนาคม 2564 เพื่อให้บริษัทที่ปรึกษาฟังข้อคิดเห็นและประเมินความสนใจของ นักลงทุน แบ่งเป็นที่ดิน 8แปลง อาทิ ส่วนสนามกอล์ฟ ,TOD พื้นที่พัฒนารอบสถานีรถไฟหัวหิน,โรงแรม 5-6ดาว,โรงแรม 3-4ดาว ศูนย์ประชุม คอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ
แหล่งข่าวจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้าระบุว่าได้ออกเอกสารเชิญภาคเอกชนจำนวน 100ราย ส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ที่ตอบได้ ได้แก่บริษัทพัฒนาที่ดินแถวหน้าของเมืองไทย บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) บริษัทอัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทออริจิ้น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) ทีซีซีกรุ๊ป บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ซี.พี.แลนด์จำกัด(มหาชน) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลชั้นนำ เป็นต้น ปัจจุบัน รฟท. ได้พิจารณาอนุมัติให้เปิดประมูล ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนบริหารสนามกอล์ฟหลวงหัวหินหรือ สนามกอล์ฟ ขนาด 500 ไร่ ติดกับหลังหมดสัญญากับ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน เนื้อที่ 71.65 ไร่ โดยบริษัท เซ็นทรัลหัวหินบีชรีสอร์ทที่หมดสัญญาเช่าลง
ย้อนรอยประวัติศาสตร์วงการกอล์ฟไทยสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน หรือ รอยัลหัวหินกอล์ฟคอร์ส (Royal Hua Hin Golf Course) สนามกอล์ฟมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย เป็นมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ประมาณค่ามิได้ สมบูรณ์ด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ อายุยืนต้นยาวนานนับ 100 ปี มีไก่ป่า สัตว์ป่า นกนานาชนิดให้นักกอล์ฟออกรอบ ตีกอล์ฟ เล่นกอล์ฟ ได้ชมพร้อมภูมิทัศน์สวยงามยิ่งนัก ทุกแฟร์เวย์มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นเสน่ห์ตรึงใจยากจะลืม จำนวน 18 หลุม พาร์ 72 ความยาว ชาย 6,678 หลา หญิง 5,713 หลา 9 หลุมแรก เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2462 เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2465 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์เสด็จทรงกอล์ฟ เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2467 จำนวน 9 หลุม
หลัง สร้างเสร็จปลายปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิด พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชร อัครโยธิน ทรงดำริโครงการ และบัญชาการสร้าง ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ออกแบบก่อสร้างโดยมิสเตอร์ เอ.โอ.โรบิน นายช่างบำรุงทางรถไฟ แขวงเพชรบุรี
ต่อมาในปี พ.ศ.2512 รฟท. ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลาไม้แบบธรรมชาติ ซึ่งกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงโปรดให้นายช่างชาวอิตาเลียนออกแบบสร้างขึ้นเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่คราวเสด็จเปิดสนามกอล์ฟ 18 หลุม เมื่อปลายปี พ.ศ.2471 นั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก จึงได้จัดการบูรณะขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ศาลาประชาธิปก” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้อันเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประธานเปิดศาลาแห่งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ดังปรากฎเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นแห่งสนามกอล์ฟหลวงหัวหินมาจนถึงทุกวันนี้ และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดเข้ามาบริหารและปรับปรุงสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2528จนถึงปัจจุบัน