ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมต้นน้ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย เนื่องด้วยเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของมูลค่าการก่อสร้าง (อ้างอิงข้อมูลจากบทวิเคราะห์ ธ.กรุงศรีอยุธยา) ที่มีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ปี 2563 ตามภาวะซบเซาของภาคก่อสร้าง จากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ก่อให้แผนลงทุนภาครัฐหลายโครงการล่าช้า ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนเองหดตัวลง ด้วยแนวโน้มกำลังซื้อทั้งจากในประเทศและต่างชาติ ซึมตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกันนั้น
ต่างทำให้ผู้ประกอบการ แม้แต่เชนจ์รายใหญ่ เบอร์ 1 ของภาคอุตสาหกรรมระดับอาเซียน อย่าง ปูนซีเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี (SCG) ก็สั่นสะเทือนในแง่รายได้ และต้องรุกปรับรูปแบบ ติดปีกการดำเนินธุรกิจ สู่นิว นอร์มอล อย่างรวดเร็ว ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาในด้านสินค้าและบริการ พร้อมโซลูชันครบวงจร
โดยนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์ - ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ได้ฉายมุมมองต่อภาพรวมตลาด ว่า อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงฉับพลันที่เกิดขึ้น ช่วยยกระดับวงการอุตสาหกรรม และยังคงมีความเชื่อมั่นสูง ว่าผลกระทบทั้่งหลายจะคลี่คลายลง และฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ปีนี้ โตได้ ราว 3-4%
ขณะเดียวกัน ในแง่บริษัท จะเร่งเดินหน้า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ดิสรัปสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยี เพื่อหวังตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตของลูกค้าที่เปลี่ยนไป พร้อมชี้ทิศทาง แนะตลาดรีโนเวทบ้านความต้องการสูง-มาแรง นับเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจ
มองก่อสร้างรัฐ-เอกชนฟื้น
แนวโน้มตลาดก่อสร้างไทยในปี 2564-2565 คาดว่า ความต้องการวัสดุก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะลงทุนภาคก่อสร้างที่มีทิศทางกระเตื้องขึ้น ทั้งโครงการภาครัฐและภาคเอกชน (คาดการลงทุนก่อสร้างภาครัฐจะขยายตัว 2.0-3.0% ในปี 2564 และ 3.0-4.0% ในปี 2565 ขณะที่ภาคเอกชนเติบโต 0.0-1.0% และ 1.0-2.0% ตามลำดับ)
ทั้งนี้ จากผลกระทบการระบาดรอบใหม่ ณ ขณะนี้ อาจทำให้กำลังซื้อในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง คาดการลงทุนในภาคเอกชน จะยังคงชะลอตัวทั้งในอสังหาฯ กลุ่มที่อยู่อาศัย และเชิงพาณิชย์ ในช่วงครึ่งปีแรก แต่หากสถานการณ์คลี่คลายลงในไตรมาสแรก แนวโน้มผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอย
รวมถึงบริษัทเอกชนจะเริ่มกลับมาลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการลงทุนของภาครัฐทั้ง เมกะโปรเจค และโครงงานก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ ยังคงก่อสร้างอย่างต่อเนื่องประกอบกับภาครัฐ ยังมีโครงการก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กระดับชุมชนอย่างต่อเนื่อง คาดปริมาณงานจะไม่น้อยไปกว่าปี 2563
โควิดเปลี่ยนผู้บริโภค
สำหรับบริษัทนั้น ตั้งเป้าเติบโตทิศทางเดียวกับตลาด ซึ่งนอกจากจะมุ่งดำเนินตามแผนงานหลัก เนื่องด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต นำเทคโนโลยี และพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ เพื่อต้นทุนการผลิต โดยมีเทรนด์
เทรนด์ - ความต้องการของลูกค้า เป็นโจทย์ท้าทาย นายนิธิเล่าว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากแนวโน้มที่เริ่มเห็นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อประกอบตัดสินใจ
จากผลสำรวจ พบ ต่อการซื้อวัสดุก่อสร้าง 1 ครั้ง มาจากการหาข้อมูล ศึกษา เปรียบเทียบ มากสุดนับ 10 ครั้ง เพราะคนมอง “บ้าน หรือ ที่อยู่อาศัย” คือ การลงทุนสูง ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงแต่ละครั้ง นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมหาศาล การหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรก ยิ่งในยุคโควิด
“พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค ซึ่งคุ้นชินกับการหลีกเลี่ยง สัมผัส สิ่งของ การอยู่คุ้นชินกับพื้นที่ของตัวเอง กิน อยู่ นอนเบ็ดเสร็จในบ้าน กลายเป็นความท้าทายธุรกิจวงการที่อยู่อาศัยไทยไม่น้อย ตามให้ทัน และใส่ใจในความต้องการ”
รุกดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน
ปัจจุบันบริษัทเร่งเดินหน้า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) และเป็นภาพที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับหลายบริษัทในวงการก่อสร้างบ้านเรา เช่น การก่อสร้าง ที่เดิมต้องอาศัยระยะเวลานาน ขั้นตอน และการควบคุมมาตรฐานหลายขั้นตอน-ยุ่งยาก ถูกแทนที่ ด้วย วัสดุ-อุปกรณ์สำเร็จรูป เพื่อลดเวลาหน้างาน ตัดทอนรายละเอียดปลีกย่อย เททราย-ก่อปูน ไปได้มาก สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้รับเหมา และ เจ้าของโครงการ
ทั้งนี้ เทรนด์ดังกล่าวได้ เห็นชัดเจนขึ้นจากในกลุ่มเจ้าของบ้านเช่นกัน หลังจากส่วนใหญ่ไม่มีเวลามาเฝ้าดูแล ตรวจสอบงานก่อสร้างด้วยตนเอง ขณะบางส่วนประสบปัญหา ผู้รับเหมาทิ้งงาน จึงมีความต้องการในรูปแบบสำเร็จ สร้างง่าย จบเร็ว คล้าย Ready-to-Cook และพลิกโฉม ไปสู่ Ready-to-Eat หรือ งานนวัตกรรมเซอร์วิสโซลูชั่น เบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มจนจบ
“โควิด เป็นทั้งตัวกระตุ้นและเร่งเทรนด์เดิมให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงแตกยอดเทรนด์ใหม่ๆ เช่น เทรนด์ Work From Homeทำให้คนต้องวิ่งหาผู้รับเหมา มาปรับปรุงพื้นที่บ้านให้เหมาะสมกับการใช้งาน และหาแนวทางประหยัดพลังงาน เพราะอยู่บ้านตลอดทั้งวัน”
บริษัทกำลังเร่งเครื่องใน 2 ส่วนหลัก 1. พัฒนาโปรดักต์ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ แง่การนำเรื่องสุขภาพ-อนามัย, ประหยัดพลังงาน และ สมาร์ทลิฟวิ่ง เช่น เครื่องฟอกอากาศ ฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ลดกลิ่น ไม่ใช่แค่กรองฝุ่นละอองจากในอดีต คล้ายห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล ท่ามกลางความเชื่อ ว่าแม้โควิดจะหายไป แต่ในอนาคตก็มีโอกาสที่โรคใหม่ๆจะเกิดขึ้นมาอีก
2. การผสมผสาน ระหว่างโปรดักส์และบริการ เช่น การใช้ระบบ BIM สำหรับการออกแบบ ฉายภาพเสมือนจริง ไปถึงเจ้าของบ้านลบภาพจำเดิมๆ ว่าเอสซีจีผูกขาดเฉพาะดีลเลอร์ - ผู้รับเหมา รวมถึง การขยายแฟรนส์ไชส์ SCG Home ไปสู่ธุรกิจค้าปลีก เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ซื้อได้ศึกษา เลือกสรรวัสดุเอง
รีโนเวทบ้านตลาดโอกาส
ทั้งนี้ ผลสะท้อนบ้านใหม่ที่มีอัตราขายดี ตลอดราว 1 ปีที่ผ่านมา โดยพบเป็น บ้านขนาดใหญ่ 3-4 ห้องนอน เพราะผู้ซื้อต้องการใช้ห้องที่เพิ่มขึ้น ไว้เป็นพื้นที่กิจกรรมที่เปลี่ยนไป บ้างแปลงโฉมเป็นห้องทำงาน ซึ่งการเติบโตของเทรนด์ดังกล่าว ทำให้ในแง่ธุรกิจ เซอร์วิสโซลูชั่น เติบโตสูงขึ้นมากในวงการก่อสร้างไทย เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟ พุ่งกระฉูด เพราะคนต่างต้องการประหยัดค่าไฟ จากเดิมที่เป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่โควิด เป็นตัวเร่ง ให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการติดตั้งผลิตไฟฟ้าใช้เอง
อีกแง่คือ งานรีโนเวท เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก เนื่องจากตลาดนี้เติบโต จากจำนวนบ้านเก่าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ต้องการความครบวงจร งาน Service Solution จึงเข้ามาตอบโจทย์ เช่น การให้บริการงานหลังคาบ้านครบวงจร การให้บริการออกแบบ ติดตั้ง และดูแลรักษาสวนรอบบ้าน การให้บริการซ่อมสุขภัณฑ์ ก๊อกน้ำ หรือก่อสร้างห้องน้ำทั้งหลัง เป็นต้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :