แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ จากการระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนหลายธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม พบในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจ กลุ่มผู้รับเหมา ประมูลงานขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มวางระบบโครงการ สามารถเพิ่ม Backlog ในมือ ดันรายได้ และ กำไร โตสวนวิกฤติ
โดยนายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT ผู้รับเหมาใหญ่ด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค บริษัทร่วมทุน ผู้ขุดเจาะอุโมงค์ดัง “โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 3” เผยล่าสุด ว่า แนวโน้มธุรกิจดีต่อเนื่อง จากการลงทุนของภาครัฐ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจงานโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ ทั้ง ระบบขนส่งทางราง งานถนน ระบบบริหารจัดการน้ำในประเทศ
โดยบริษัทมีงานที่ประมูล รอเรียกลงนามในสัญญา ไตรมาส 2 นี้ ถึง 3 งาน และมีงานประมูลรอพิจารณาผลอีก 2 งาน รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท เช่น งานอุโมงค์รถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงราย เชียงของ, งาน Pipe Jacking, งานอุโมงค์ประปา เป็นต้น คาดดันยอดรับรู้รายได้ในมือร่วม 7,000 ล้านบาท
ขณะ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีข้อมูลออกมาว่า ประกาศฟอร์มทีม ลุยรับงานใหญ่ ไม่หวั่นโควิด ล่าสุด คว้างานใหม่ ด้านควบคุมงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ และเตรียมเซ็นสัญญางานย่าน EEC อีก 2 งาน ทั้งงานบริหารโครงการสนามบินขนาดใหญ่ และงานด้านสิ่งแวดล้อมของท่าเรือแห่งสำคัญ
เช่นเดียวกับ นาย อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP ซึ่งคาดการณ์ ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีในธุรกิจ โดยมาจาก ปัจจัยสนับ สนุนจากการลงทุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจงานโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ โดยเฉพาะงานก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำหรับการลงทุนก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออก รวมถึงงานภาคเอกชนโครงการอสังหาริมทรัพย์ ใน EEC เชื่อทั้งปี จะโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 2,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินไว้ว่า ช่วงปี 2564-2566 รายได้ของกลุ่มผู้รับเหมาที่เน้นโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความพร้อม ในการประมูลรับงาน และมีศักยภาพในการบริหารงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นโครงการลงทุนของภาครัฐ
เช่น รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC รวมทั้งมีโอกาสในการประมูลงานด้านสาธารณูปโภคและโครงการโรงไฟฟ้าใน CLMV ที่จะยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรายเล็ก คาดว่ารายได้จะกระเตื้องขึ้น อานิสงส์จากการรับเหมาช่วงในโครงการขนาดใหญ่จากผู้รับเหมารายใหญ่และรายกลางเช่นกัน
ส่วนผู้รับเหมางานก่อสร้างภาคเอกชน ในกลุ่มที่อยู่อาศัยอาคารทั่วไป กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ รายได้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยรายได้อาจยังทรงตัวหรือชะลอตัวในปี 2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ดี แต่จะเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นใน 2 ปีถัดไป จากความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นตามการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง