ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ทำการสำรวจการเปิดตัวโครงการเปิดใหม่ทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัย และบริษัทที่มีจำนวนหน่วยขายมากที่สุดคือ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ที่กลับมาทวงแชมป์ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุดคือบจก.เอ็มคิวดีซี
บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดตัวโครงการทั้งหมดถึง 15 โครงการ มีหน่วยขายถึง 3,390 หน่วย หรือมีสัดส่วนถึง 13% ของหน่วยขายทั้งหมดที่เปิดใหม่(รวม 25,257 หน่วย) โดยมีมูลค่ารวม 3,390 ล้านบาท หรือเท่ากับหน่วยหนึ่งมีราคาเฉลี่ย 2.848 ล้านบาท ในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมา บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ครองแชมป์อันดับหนึ่งมาโดยตลอดทั้งจำนวนหน่วยขายและมูลค่าที่เปิดใหม่
มีเพียงปีที่แล้วที่เสียแชมป์ให้บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และบริษัทในเครือเพราะยังมีหน่วยรอขายอยู่เป็นจำนวนมากอันเป็นผลจากการเปิดขายจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตทจึงได้ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ ส่วนในครึ่งแรกของปี 2564 นี้ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และบริษัทในเครือ แชมป์ปีที่แล้วก็ชะลอตัวการเปิดตัวใหม่ เพราะต้องรอการขายสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2563 ที่มีเป็นจำนวนมาก เช่นกัน
จะสังเกตได้ว่าบริษัทอันดับสองคือบจก.เอ็มคิวดีซี และอันดับสาม คือบมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการเพียง 1,742 หน่วยและ 1,736 หน่วย น้อยกว่าอันดับหนึ่งถึงเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม บจก.เอ็มคิวดีซี มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุดในครึ่งแรกของปี 2564 นี้ ส่วนที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือบมจ.เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ หรือ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เดิมซึ่งจัดตั้งในปี 2533 และเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2545 และเมื่อปี 2562 เพิ่งเปลี่ยนเป็น “เฟรเซอร์ส” ในปี 2562
นอกจากนี้ มีอีก 3 บริษัทที่พัฒนาสินค้าจำนวนมากกว่า 1,000 หน่วยในครึ่งแรกของปี 2564 นี้คือ บมจ.ศุภาลัย(1,353 หน่วย) บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (1,280 หน่วย) และ บมจ.แสนสิริ (1,137 หน่วย) ส่วนอันดับที่ 7-10 ก็คือ บมจ.ลลิลพร็อพเพอร์ตี้ (972 หน่วย) บมจ.ออริจิ้นพร็อพเพอร์ตี้ (874 หน่วย) บมจ.โนเบิลดีเวลลอปเมนท์ (750 หน่วย) และบมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (732 หน่วย)
สำหรับในแง่มูลค่าปรากฏว่า บริษัทอันดับหนึ่ง ในครึ่งแรกของปี 2564 คือ บจก.เอ็มคิวดีซี ซึ่งเป็นชื่อย่อของ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่นจำกัด เปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งแรกของปี 2564 เพียง 6 โครงการจำนวน 1,742 หน่วย แต่มีมูลค่าการพัฒนาถึง 45,326 ล้านบาท หรือเท่ากับ 33.3% หรือหนึ่งในสามของการพัฒนาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าราคาขายต่อหน่วยของสินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทนี้ มีราคาขายสูงถึง 26.019 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทที่มีราคาสินค้าสูงสุดอันดับสอง คือ บมจ.โนเบิลดีเวลลอปเมนท์มีราคาเฉลี่ยเพียง 8.050 ล้านบาท
อย่างกรณีโครงการซิกส์เซนส์เรสซิเดนซ์ เดอะ ฟอเรสเทียส์ ของ บจก.เอ็มคิวดีซี ทาวน์ รอยัล เรสซิเดนซ์ ในโครงการเดอะฟอเรสเทียร์ เสนอขายบ้านเดี่ยว 2-3 ชั้น ราคา 172-345 ล้านบาทราคาที่ดินเพิ่ม-ลดตารางวาละ 350,000 บาท แม้จะเป็นสินค้าบ้านเดี่ยวสไตล์รีสอร์ตราคาแพง และมีทั้งหมด 27 หน่วยแต่ก็มีคนจองซื้อไปแล้ว 16 หน่วย (59%) โดยจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าของธุรกิจผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการบ้านพักรูปแบบตากอากาศในกรุงเทพมหานคร
จะเห็นได้ว่า บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่เป็นแชมป์จำนวนหน่วยเปิดใหม่กลายเป็นอันดับที่สองของแชมป์มูลค่าการพัฒนา เพราะมีการพัฒนารวมกัน 9,654 ล้านบาท หรือ 7.1% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด ที่น่าสนใจเพิ่มเติมก็คือ บมจ.เอสซีแอสเซทคอร์ปอเรชั่น ที่แม้ไม่ติด 1 ใน 10 หน่วยขายสูงสุด แต่ติดถึงอันดับ 5 ของมูลค่าการพัฒนาสูงสุดถึง 5,772 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดถึง 4.2%
และอีกบริษัทหนึ่งก็คือ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ที่แม้เปิดตัวเพียง 716 หน่วย ไม่ติด 1 ใน 10 บริษัทที่เปิดตัวหน่วยขายมากสุด แต่มีมูลค่าการพัฒนาสูงเป็นอันดับ 10 คือ 3,905 ล้านบาท เพราะบริษัทนี้ขายสินค้าห้องชุดโดยมีราคาเฉลี่ย 5.454 ล้านบาท จากแต่เดิมที่เน้นขายห้องชุดราคาถูกการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่ยังมีกำลังซื้ออยู่จริง ทำให้บริษัทนี้สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง
มีแนวโน้มว่าบริษัทใหญ่ๆ มีส่วนในการ “ผูกขาด” ตลาดมากขึ้น โดย 10 บริษัทแรกนี้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดถึง 55% ของหน่วยขายทั้งหมด ยิ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการพัฒนาจะพบว่า 10 บริษัทแรกนี้ครองส่วนแบ่งตลาดในแง่มูลค่ารวมกันถึง 72% ของทั้งหมด โอกาสที่บริษัทขนาดเล็กๆ จะเกิดในขณะนี้มีน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทเล็กที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ที่มีการวางแผนและการจัดการการเงินและการบริหารที่ดี ก็ยังสามารถเปิดตัวโครงการได้เช่นกัน