30 สิงหาคม 2564 - ความคืบหน้าคดีคอนโดมิเนียมหรู 'แอชตัน อโศก' ตามที่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยให้มีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว
ล่าสุดวันนี้ ลูกบ้านโครงการ แอชตัน อโศก พร้อมทนายความ ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ (คลิกชมคลิปย้อนหลัง) ออกแถลงการณ์เรียกร้อง และชี้แจงถึงผลกระทบ ฉบับที่ 2 โดย มีใจความว่า ระบุว่า ....
พวกเราชาวลูกบ้านแอซตันอโศกเข้าใจว่า บัดนี้ หน่วยงานของรัฐและบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัดได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานราชการใดหรือผู้พัฒนาโครงการได้จัดให้มีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้มีผลเป็นรูปธรรมแต่อย่างใดจนเป็นเหตุทำให้ในขณะนี้สถาบันการเงินต่างๆ ที่เคยได้ให้สินเชื่อแก่ลูกบ้านทำการปฏิเสธการให้ทำ Retention ในส่วนดอกเบี้ยของวงเงินกู้ยืมเดิม และสถาบันการเงินหลายแห่งปฏิเสธในการอนุมัติคำขอสินเชื่อ Refinance ด้วยเหตุที่หลักประกันสินเชื่อซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการแอซตันอโศกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว
ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางจนกระทั่งมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทำการรื้อถอนอาคารชุดแอซตันอโศกแล้ว พวกเราจะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งอาจไม่ได้รับการชดเชยจากหน่วยงานราชการหรือผู้พัฒนาโครงการในที่สุด อันเป็นกรณีที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการถูกเวนคืนที่ดินเพราะการถูกเวนคืนที่ดินก็ยังได้รับการเยียวยาเป็นค่าที่ดิน แต่เราอาจไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ ในกรณีที่ถูกรื้อถอนอาคารในที่สุด ทั้งที่พวกเราทุกคนต้องเก็บหอมรอมริบและไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาซื้อห้องชุดโดยสุจริตเพื่อหวังว่าจะสามารถใช้ห้องชุดดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของพวกเราและครอบครัวตลอดไป แต่ความหวังของพวกเราอาจพังทลายโดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดใดๆ และอาจตกเป็นเหยื่อของความไม่น่าเชื่อถือของใบอนุญาตที่ได้ออกโดยหน่วยงานของรัฐโดยที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้าก่อนทำสัญญาซื้อขายได้เลย
พวกเราชาวลูกบ้านแอชตันอโศกมีวงเงินสินเชื่อต่อสถาบันการเงินต่างๆ รวมกันประมาณ 3 พันล้านบาทซึ่งพวกเราจะต้องเสียดอกเบี้ยส่วนต่างในอัตราร้อยละ 2 ถึง 3 เพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ทำ Retention หรือ Refinance คิดเป็นเงินค่าเสียหายในส่วนนี้ในวงเงินประมาณ 60-90 ล้านบาทต่อปี หากคดีดังกล่าวจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีอีก 5 ปีจะคิดเป็นค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 300-450 ล้านบาทจากการสูญเสียโอกาสในการทำ Retention หรือ Refinance ดังกล่าวโดยไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ นอกจากนี้ พวกเราก็ยังไม่สามารถทำการขายห้องชุดให้แก่บุคคลภายนอกได้เลยเนื่องจากไม่มีบุคคลใดยินยอมรับซื้อห้องชุดภายในโครงการแอซตันอโศกอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 พวกเราชาวลูกบ้านแอชตันอโศกจำนวนมากกว่า 300 คน พร้อมด้วยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แอซตัน อโศกโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดได้ทำหนังสือไปยังบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด และ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้มีการประชุมเพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ พวกเรายังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้พัฒนาโครงการดังกล่าว
ซึ่งหากข้อเรียกร้องของพวกเราดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้พัฒนาโครงการแอซตันอโศกภายในกำหนดระยะเวลา 14 วันนับแต่วันนี้ พวกเราชาวลูกบ้านแอซตันอโศกกว่า 1,000 ชีวิตจากกว่า 600 ครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องยกระดับข้อเรียกร้องของพวกเราต่อหน่วยงานราชการและ/หรือผู้พัฒนาโครงการในโอกาสต่อไป
กลุ่มลูกบ้านแอซตันอโศก
30 สิงหาคม 2564