23 กันยายน 2564 - ตลาดที่อยู่อาศัยบ้านเราในขณะนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นตลาดของผู้ซื้ออย่างแท้จริงก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความพร้อมด้านการเงิน หลังจากสถานการณ์โควิด ทำให้ตลาด ปี 2564 และอาจจะยาวต่อเนื่องไปจนถึง ปี 2565 มีการแข่งขันรุนแรง ผ่านการออกโปรโมชั่น หั่นราคาโครงการบ้าน และคอนโดมิเนียม เพื่อระบายสต็อกกันเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุมาตรการรัฐ ที่ช่วยลดหย่อนค่าโอนและจดจำนอง ในบ้านและคอนโดที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทจาก 2% เหลือแค่ 0.01% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ และมีเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะขยายมาตรการต่อไปอีก พร้อมกับอัตราดอกเบี้ยกู้บ้านที่ถูกลง ดังนั้นถือเป็นจังหวะที่ดีในการซื้อ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน และอาจอยู่ระหว่างการวางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งลังเลใจที่จะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงนี้ ก็สามารถวางแผนการเงิน ช่วยทำให้มีบ้านหลังแรกได้สำเร็จไม่ยากเช่นกัน
โดย Dot Property บริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์ ค้นหาอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยแพร่บทความ : เรียนรู้วิธีวางแผนการเงิน เพื่อกู้ซื้อบ้านหลังแรกในปี 2564 และปี 2565 ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
6 วิธีวางแผนการเงิน กู้ซื้อบ้านหลังแรก
1. ประเมินกำลังตัวเอง
อยากมีบ้านในช่วงนี้ ข้อควรระวังที่สุดเลยก็คือ การประเมินกำลังของตัวเอง โดยคุณควรจะประเมินรายรับ รายจ่าย และหนี้สินทั้งหมดที่มี และประเมินให้มีหนี้สินแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ เช่น คุณมีเงินเดือนที่ 20,000 จะสามารถผ่อนบ้านสูงสุดได้ 20,000 x 40% = 8,000 บาท แต่ถ้ามีหนี้สินอื่นๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ ฯลฯ ความสามารถในการผ่อนบ้านต่อเดือนก็จะลดลง เป็นเหตุให้วงเงินที่สามารถกู้ได้มีจำนวนน้อย หรือทำเรื่องกู้ซื้อบ้านได้ยากขึ้นด้วย
2. วางแผนเก็บเงินและหาโครงการบ้านในวงเงินที่สามารถกู้ซื้อได้
หลังจากทำการประเมินตนเองแล้ว ก็เข้าสู่แผนการเก็บออมเงิน เพื่อให้มีเงินออมและเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้สัก 10% ของราคาบ้านที่จะซื้อ เพราะการซื้อบ้านก็มีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องชำระเป็นเงินสด เช่น ค่าจดจำนอง 1% ของมูลค่าที่จำนอง (จำนวนเงินกู้ทั้งหมด), ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมินหรือราคาขาย ฯลฯ ที่ถึงแม้จะได้รับส่วนลดจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากรัฐบาล โดยทำการลดค่าธรรมเนียมการโอนบ้านและคอนโดจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองสินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 1% เหลือ 0.01% ก็ยังต้องสำรองเงินสดไว้อยู่ดี
3. เคลียร์หนี้ก่อนกู้
ก่อนที่จะทำการกู้ซื้อบ้านควรที่จะเคลียร์หนี้ที่มีอยู่ให้หมด หรือถ้าไม่หมดก็ควรที่จะเหลือให้น้อยที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงการผ่อนสินค้าก่อนกู้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะการผ่อนสินค้าถือเป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้คุณสามารถกู้ในวงเงินตามเป้าหมายได้
4. ทำประวัติเครดิตบูโรให้ดี
การใช้บัตรเครดิตเพื่อกู้ซื้อบ้าน ใช้ยังไงให้กู้ผ่านฉลุย ว่า หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และบัตรผ่อนชำระต่าง ๆ หนี้สินของบัตรต่าง ๆ ตรงนี้จะไปแสดงที่เครดิตบูโร หากมีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ไม่ตรงต่อเวลา ผิดนัดจ่ายหนี้กับธนาคาร หรือเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายเลย เครดิตบูโรก็จะขึ้น Blacklist ซึ่งจะทำให้กู้ผ่านยากมากขึ้น
ดังนั้น จึงควรทำประวัติเครดิตบูโรให้ดี เช่น ชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลา ไม่ผิดนัดจ่ายหนี้ ไม่เป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดมากเกินไป ฯลฯ
5. สร้างประวัติการเงินสวยๆ
สำหรับคนทำฟรีแลนซ์หรือประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ ข้อนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ เพราะการไม่ได้ทำงานประจำและไม่มีเงินเดินในบัญชีแบบสม่ำเสมอ อาจจะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธอนุมัติวงเงินกู้และสามารถกู้บ้านผ่านได้ ดังนั้น เมื่อฟรีแลนซ์กู้เงินซื้อบ้านควรจะทำการเดินบัญชีทั้งการเอาเงินเข้าและออกหรือสร้าง Statement ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (เพราะแต่ละธนาคารมักจะขอดู รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6-12 เดือน) เตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อย เพื่อที่จะมีประวัติการเงินที่พร้อมสำหรับการยื่นในปี 2565
6. หาผู้กู้ร่วม
ถือเป็นเคล็ดลับในการวางแผนการเงินแบบหนึ่งที่ช่วยให้คุณได้บ้านในฝันมาครอบครอง ถึงแม้ว่า ลำพังแค่เงินเดือนของคุณอาจจะได้ยอดเงินกู้ไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องหาผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้มากขึ้นนั่นเองครับ ซึ่งการกู้ร่วมสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาจากรายได้ของทุกคนที่ขอกู้ร่วม โดยจะหักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคน แน่นอนว่า วิธีนี้จะช่วยให้สามารถกู้วงเงินได้สูงขึ้นมากอีกพอสมควร แต่ก็ควรจะวางแผนกับผู้ที่กู้ร่วมกันให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา
ที่มาและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.dotproperty.co.th/