การชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงินของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภค แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง จึงทำให้หลายคนชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อนในช่วงนี้
อย่างไรก็ตามผู้บริโภคที่มีภาระต้องผ่อนอสังหาฯ หรือ บ้าน และ คอนโดฯ อยู่แล้ว คงมีความกังวลใจไม่น้อย ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ล่าสุด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ แนะทางออก สำหรับ คนที่ผ่อนบ้านไม่ไหว โดยเปิดข้อมูลที่น่าสนใจของ การรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรีเทนชัน (Retention) เพื่อเป็นตัวเลือกในช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระ
“รีไฟแนนซ์ - รีเทนชัน” ทางเลือกน่าสนใจสำหรับผู้กู้ที่ผ่อนไหว
1. การรีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการสิ้นสุดสัญญาสินเชื่อที่มีอยู่กับธนาคารหนึ่งแล้วไปทำสัญญาสินเชื่อใหม่กับอีกธนาคารหนึ่ง โดยผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกธนาคารได้เองจากการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอที่น่าจูงใจของแต่ละธนาคาร ส่วนใหญ่จะสามารถขอรีไฟแนนซ์ได้เมื่อผ่อนบ้านไปแล้ว 3 ปีขึ้นไปหรือตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญากู้บ้าน
ปัจจุบันการรีไฟแนนซ์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้กู้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าของธนาคารเก่า ยังทำให้ค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนถูกนำไปหักเงินต้นคงเหลือได้มากขึ้น ช่วยให้ภาระในการผ่อนบ้านหมดไวขึ้นอีกด้วย
2. การรีเทนชัน (Retention) มีหลักการเหมือนกับการรีไฟแนนซ์ แต่เป็นการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิม โดยจุดเด่นของการรีเทนชันคือ ผู้กู้ดำเนินธุรกรรมกับธนาคารเดิม ดังนั้นจึงไม่ต้องมีภาระในการจัดเตรียมเอกสารใหม่ เพราะทางธนาคารมีเอกสารและข้อมูลของผู้กู้อยู่แล้ว ทำให้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติไม่นานก็ทราบผล ธนาคารบางแห่งใช้เวลาพิจารณาแค่ 7 วันทำการเท่านั้น
นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากนัก ธนาคารบางแห่งอาจคิดเพียงค่าธรรมเนียมสินเชื่อ 1% ของวงเงินกู้เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราค่าดำเนินการเพื่อทำรีไฟแนนซ์ ถือว่ารีเทนชันมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก (ควรพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยควบคู่ด้วยเนื่องจากการรีไฟแนนซ์มักได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า)
ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยให้เห็นว่า เกือบ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (23%) เลือกการรีไฟแนนซ์มาช่วยแบ่งเบาภาระในการผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่มีผู้สนใจรีเทนชัน (Retention) เพียง 8% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมากกว่า 2 ใน 3 (69%) เผยว่าจะตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมมากที่สุดในเวลานั้นอีกครั้ง
ข้อมูล : ดีดีพร็อพเพอร์ตี้
ข้อมูลอัปเดตอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านปี 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง