‘เหมืองแร่’ ขุมผลิตสิ่งของรอบตัว ทำอย่างไร? ไม่ให้เกิดผลกระทบ

26 ต.ค. 2564 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 11:11 น.

บทความ : ‘เหมืองแร่’ สิ่งสำคัญสร้างความสะดวกชีวิตประจำวัน ทำอย่างไร ? ให้การทำเหมือง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน โดย รศ.ดร.พิษณุ บุญนวล นายกสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ไทย

26 ต.ค.2564 - เคยรู้กันบ้างไหมว่า ความสะดวกสบายในชีวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน การเดินทาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องสำอาง ยารักษาโรค ล้วนมีส่วนที่จะต้องใช้แร่กันทั้งนั้น


ทำไมต้องมีเหมืองแร่

เคยสังเกตกันไหมว่า ในชีวิตประจำวันของเรานั้น จะต้องใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่มีแร่เป็นวัตถุดิบกันตลอดวัน ตั้งแต่อ่างล้างหน้าแปรงฟัน เครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ ห้องน้ำที่ปูพื้นกระเบื้อง บุผนังด้วยกระเบื้อง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ต้องใช้แร่ดินขาว บอลเคลย์ เฟลด์สปาร์ ทรายแก้ว โดยใช้ปูนปลาสเตอร์ที่ผลิตจากแร่ยิปซั่มเป็นเบ้าหล่อ นอกจากนี้ ยังต้องส่องกระจกแต่งสวยแต่งหล่อกันสักหน่อย กระจกนี่ก็ผลิตจากแร่ทรายแก้วโดยมีเฟลด์สปาร์และโดโลไมท์ผสมเพื่อปรับปรุงคุณภาพ

‘เหมืองแร่’ ขุมผลิตสิ่งของรอบตัว  ทำอย่างไร? ไม่ให้เกิดผลกระทบ

รวมทั้งบ้านที่เราอาศัยอยู่นั้น สร้างขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่เกือบทั้งหลัง !  เริ่มที่เสา คาน พื้นและผนังบ้านคอนกรีต ใช้ทรายจากเหมืองทราย หินจากเหมืองและโรงโม่หินที่เห็นกันอยู่ทั่วประเทศ ใช้เหล็กเส้นจากเหมืองเหล็ก โรงถลุงเหล็ก และโรงงานหลอมและรีดเหล็ก แล้วก็ต้องใช้ปูนซีเมนต์

 

ในการผลิตปูนซีเมนต์นั้น เราต้องทำเหมืองหินปูน เหมืองดินเหนียว ดินซีเมนต์ เพราะปูนซีเมนต์ต้องมีองค์ประกอบของแคลเซียมออกไซด์ CaO (จากหินปูน) อะลูมินา Al2O3 (จากดินเหนียวและดินซีเมนต์) เหล็กออกไซด์ Fe2O3 (จากดินเหนียวหรือแร่เหล็ก) และซิลิก้า SiO2 จากดินเหนียวและดินซีเมนต์ โดยนำวัสดุพวกนี้ตามสัดส่วนที่ออกแบบและคำนวณไว้มาบดผสม แล้วเผาให้เป็นซีเมนต์เม็ด (Clinker) จากนั้นจึงเอาไปบดละเอียด โดยผสมแร่ยิปซั่มลงไปอีกประมาณ 4-5 % ได้เป็นปูนซีเมนต์ให้ได้ใช้กัน แน่นอนก็ต้องมีการทำเหมืองแร่ยิปซั่มอีกชนิดหนึ่ง

 

แค่ชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายนี้ ทุกคนก็มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดความจำเป็นต้องทำเหมือง ในหลายๆ ชนิดแร่กันแล้ว ถ้าไม่ให้ทำเหมืองกันแล้ว เราจะเอาของจำเป็นพื้นๆ ที่กล่าวมานี้จากไหนกัน ถ้าไม่รักเหมือง ก็ต้องทำความเข้าใจกันละหนา ?

‘เหมืองแร่’ ขุมผลิตสิ่งของรอบตัว  ทำอย่างไร? ไม่ให้เกิดผลกระทบ
 

ทำไม?จึงเห็นเหมืองหินอยู่เกือบทุกจังหวัด

หินมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากใช้หินในการสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว ยังต้องใช้สร้างตึกใหญ่โตสูงระฟ้า สะพานลอย ถนนลอยฟ้าในกรุงในเมืองต่างๆ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่นถนนหนทาง สะพาน ท่าเรือ สนามบิน ทางรถไฟรางคู่ ทางรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งสนามกีฬาและงานป้องกันการกัดเซาะตลิ่งด้วย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีเหมืองหินกระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้

 

เป็นไปได้ไหม?ที่การทำเหมืองจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน

เราก้าวเข้ามาในยุคใหม่แล้ว ยุคที่กฎหมายแร่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ความสำคัญในเรื่องการทำเหมืองที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มีการกำหนดมาตรการควบคุมจากหน่วยงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยให้เหมืองต้องปฎิบัติและรายงานการติดตามตรวจสอบ มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานราชการด้านเหมืองแร่มีการส่งเสริมให้เหมืองปรับตัวและพัฒนา เช่น รางวัลส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) สำหรับเหมืองที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า มีความปลอดภัยทั้งจากอุบัติเหตและสุขอนามัยของทั้งพนักงานและชุมชนใกล้เคียง มีสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ดี ควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบเหมืองที่ดีและมีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบง่าย รวมทั้งและเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด


รศ.ดร.พิษณุฯ เน้นย้ำว่า “การทำเหมืองแร่ยุค 4.0 นี้ คนทำเหมืองต้องมีจิตสำนึกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการสนับสนุนขององค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น สภาการเหมืองแร่ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ไทย ที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านการจัดบรรยายและอบรม ตลอดจนการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานต่างๆ เช่น มาตรฐานการปฏิบัติการระเบิด มาตรฐานการทำเหมืองหินและโรงโม่หิน เป็นต้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถนำพาไปสู่ยุคของเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในที่สุด”