"กรมที่ดิน" ฟัด‘รถไฟฯ’พิษเขากระโดงบานปลาย

29 ต.ค. 2564 | 02:44 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 10:00 น.

กรมที่ดินซัดรฟท.ปม“เขากระโดง” 5,083 ไร่ ขอแผนที่ ชี้แนวเขต-รังวัด 3 เดือนยังเงียบ หลังพลิกเกมไม่ฟ้องผู้บุกรุก ยันยึดคำตัดสินศาล ด้านศักดิ์สยาม ระบุฟ้องกรมที่ดินให้เป็นขั้นตอนกฎหมาย เรื่องยังไม่เข้าสู่บอร์ดรถไฟฯ

 

ข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เกิดพลิกเกมนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรฟท.กับกรมที่ดิน แทนเอกชน ประชาชนผู้บุกรุก กรณีกรมที่ดิน ยังไม่สามารถ ตั้งคณะกรรมการ

ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 เพิกถอนเอกสารสิทธิ์บนที่ดินเนื้อที่  5,083 ไร่คืนรฟท.ตามที่มีหนังสือร้องขอ โดยมีชนวนเหตุมาจาก ความไม่ชัดเจนในแนวเขตที่ดินรฟท.ไม่สามารถชี้ชัดกรรมสิทธิ์ ว่าอยู่บริเวณใดบ้าง ขณะเดียวกัน กรมที่ดินมีความจำเป็นต้อง รักษาสิทธิ์ในที่ดินให้กับประชาชนที่ถือครอง ตามกฎหมาย หากเพิกถอนโดยพละการจะถูกฟ้องร้องจากประชาชนได้

แหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากรมที่ดินต้องการแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงแบบตรงไปตรงมา หากออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้องก็พร้อมเพิกถอน แต่ปัญหาใหญ่ รฟท.ไม่ทราบแนวเขตที่ดินของตัวเองว่าอยู่จุดใด กรมที่ดินจึงมีหนังสือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564  

ขอให้รฟท.ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. ให้รฟท.รังวัดรับรองแนวเขตที่เขากระโดงส่งให้กรมที่ดิน 2.ยื่นขอรังวัดสอบเขตณ ที่ตั้งที่ดิน หากกรมที่ดินได้รับหลักฐานจะตั้งกรรมการ ตามมาตรา 61 ทันทีแต่ปัญหาคือเกือบ 4 เดือนแล้วที่เรื่องเงียบหายไปแต่กลับจะฟ้องรัฐ คือกรมที่ดินแทน เอกชน/ชาวบ้านมองว่านี่คือเกมการเมือง โดยเฉพาะที่ดินจำนวน 2 แปลงของนักการเมืองดังในพื้นที่ กรมที่ดินต้องยึดคำพิพากษาศาล

   ภายหลัง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ร้องเรียนต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวออกไป และในเวลาต่อมา รฟท.ได้มีหนังสือย้ำขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่อ้างว่าออกโดยมิชอบทั้งที่กรมที่ดินได้ดำเนินการตรวจสอบส่งเรื่องไปที่จังหวัดบุรีรัมย์อยู่ก่อนแล้ว

 ต่อข้อถามที่ว่าเหตุใดกรมที่ดินจึงออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรถไฟฯ แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แนวเขต โดยรฟท.ยืนยันว่าไม่ใช่แนวเขตที่ดินรถไฟ ทั้งนี้การออกโฉนดแต่ละแปลงต้องใช้เวลาไม่ได้ออกได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามรฟท.สามารถฟ้องผู้บุกรุกได้แต่ไม่ดำเนินการหากจะฟ้องกรมที่ดินมองว่าอยากให้เป็นเช่นนั้นเพราะเรื่องจะได้คลี่คลายโดยเร็ว

“กรมที่ดินขอให้ รฟท.ยืนยันว่า แผนที่แสดงเขตที่ดินของการรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง พ.ศ.2464 หรือไม่ หากเป็นแผนที่แนบท้ายขอให้แจ้งกรมที่ดินทราบด้วย หากไม่ใช่แผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ฯ ดังกล่าว ขอให้รฟท.จัดส่งแผนที่ให้กรมที่ดินเพื่อประกอบการพิจารณา”

 ขณะกรณีสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้การรถไฟฯ ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นั้น กรมที่ดินได้ขอทราบเหตุผลที่ รฟท. ไม่ดำเนินการฟ้องคดีเพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของอัยการสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อจะได้ใช้ประกอบการออกคำสั่งตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อไป

  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีรฟท. เตรียมฟ้องกรมที่ดินหลังออกเอกสารสิทธิไม่ถูกต้องในที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า เรื่องดังกล่าวให้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

  นายจิรุฒม์   วิศาลจิตร  อธิบดีกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. กล่าวว่า ขณะนี้ความคืบหน้าการฟ้องร้องกรมที่ดินในการออกเอกสิทธิพื้นที่เขากระโดง เป็นแนวปฏิบัติและอำนาจของรฟท.ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการรฟท. หากมีความคืบหน้าในการฟ้องร้องฯ รฟท.จะเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับทราบ แต่ปัจจุบัน รฟท.ยังไม่ได้เสนอที่ประชุมรับทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

  รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งว่า เมื่อปี 2550 รฟท. เข้าไปสำรวจการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดง เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ พบว่ามีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย, ถือครอง น.ส. 3ก ประมาณ 500 ราย และถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย รวมทั้งมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน

  ล่าสุดในช่วงต้นปี 2564 รฟท.สำรวจพื้นที่เขากระโดงอีกครั้ง พบว่ามีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ 900 ราย แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน 700 ราย ,ที่ดินที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย , น.ส. 3 ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์จำนวน 53 แปลง และอื่นๆที่ไม่ปรากฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง