ลูกบ้าน ในโครงการ คอนโดมิเนียม “เดอะเม็ท” (The MET) รวมถึงชุมชนผู้คนอยู่อาศัยในย่านสาทรมีความกังวลอย่างมาก ภายหลังจากทราบว่า โครงการ “ 125 สาทร” (125 SATHORN) ที่พัฒนาโดยบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้รับการอนุมัติ EIA แล้ว โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดโครงการใหม่จึงได้รับการอนุมัติทั้งที่เดอะเม็ทได้ยื่นรายงานการคัดค้านจำนวน 260 หน้าที่มีรายละเอียดชัดเจนถึงคณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญในเดือนมีนาคม 2564 ส่งผลให้โครงการถูกปฏิเสธในเดือนเมษายน แต่ใน 4 เดือนต่อมาโครงการกลับได้รับการอนุมัติ EIA
นางสาวชิดชนก เลิศอำพรไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเดอะเม็ท สาทร ได้แสดงความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า “ จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าการก่อสร้างใหม่ใด ๆ เป็นไปตามข้อบังคับการควบคุมอาคารที่บังคับใช้และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มีต่อ เดอะเม็ท อย่างจริงจัง ” นางสาวชิดชนก กล่าว
เดอะเม็ท ยังคงแสดงการคัดค้านโครงการ 125 สาทร ซึ่งเป็นโครงการที่พักอาศัยประเภทอาคารสูงขนาดใหญ่ที่ออกแบบเป็นอาคารแฝดความสูง 143 เมตร จำนวน 756 ยูนิต บนที่ดิน 3 ไร่ ติดถนนสาทรใต้ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการเดอะเม็ท โดยเจ้าของร่วมโครงการเดอะเม็ท ต่างรู้สึกประหลาดใจที่โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติ EIA ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งที่โครงการนี้เคยถูกปฏิเสธการขออนุมัติ EIA ในตอนแรกเมื่อเดือนเมษายน 2564 เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญได้ยกประเด็นต่างๆ มากมายเป็นเหตุผลในการปฏิเสธครั้งนั้นซึ่งรวมถึงปัญหาวิกฤตการจราจรบนถนนสาทรด้วย
แม้ผู้พัฒนาโครงการใหม่จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนแวดล้อมโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม เดอะเม็ท ไม่พอใจกับคำอธิบายที่ได้รับจากโครงการ 125 สาทรในเรื่องการจัดการกับลม แสงแดด ฝุ่นพิษ เสียง และการสั่นสะเทือน ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ EIA ได้พิจารณาให้น้ำหนักอย่างไรต่อข้อมูลที่นำเสนอโดยนักพัฒนา กับข้อมูลที่แสดงความกังวลของชุมชน ก่อนที่จะให้การอนุมัติ EIA โครงการใหม
ประเด็นดังกล่าวจึงนำไปสู่ข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสของกระบวนการอนุมัติ EIA สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ การตัดสินใจในที่ประชุมที่มีการตัดสินใจนั้น สาธารณชนไม่อาจรับรู้ จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญอาจให้น้ำหนักอย่างผิวเผินต่อรายงานและเอกสารเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ 125 สาทร และคำถามยังคงมีอยู่ว่า จะมีวิธีทำให้เกิดความสมดุลได้อย่างไร
เมื่อผลกระทบด้านลบของสิ่งแวดล้อมมีต่อคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีอยู่เดิมซึ่งชุมชนที่ว่านั้นรวมถึงเดอะเม็ท สถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ ที่ตั้งอยู่ติดกับแปลงที่ดินโครงการใหม่ และประชาชนในละแวกใกล้เคียง ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของชุมชนแวดล้อมจำนวน 400 คน มีผู้แสดงการคัดค้านโครงการ 125 สาทร ในอัตรามากกว่า 60 %
กล่าวได้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของกระบวนการอนุมัติ EIA มีตัวอย่างชี้ชัดในเรื่องนี้ เช่น กรณี “แอชตัน อโศก ” ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ศาลปกครองกลางได้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่ออกให้สำหรับอาคารแอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตามคำฟ้องของชุมชนต่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตวัฒนา ผู้อำนวยการโยธาธิการ กทม. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญ (Expert Review Committee) โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยร่วมกันไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
อีกกรณีคือ โครงการคอนโดมิเนียม “ควินทารา ซิงค์ เย็นอากาศ “ (Quintara Sync Yenakat ) กรุงเทพมหานครได้รับคำร้องเรียน ขอให้มีการระงับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงหลังนี้ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ตัวแทนของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้แสดงการคัดค้านการอนุมัติ EIA และระบุว่า กทม. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะโครงการได้รับการอนุมัติ EIA แม้ว่าถนนหน้าโครงการจะแคบกว่าความกว้างที่กฎหมายอนุญาตก็ตาม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการนำเสนอข้อมูลด้านความปลอดภัยสาธารณะและสภาพแวดล้อมในเมืองจากรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยเสนอกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการอนุมัติ EIA สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวสูง ซึ่งรวมถึงปัญหาที่น่ากังวลของโครงการใหม่
ที่ปิดกั้นระดับลมและแสงแดดต่อชุมชนที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม ในการประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ข้อเสนอเหล่านี้ถูกตอบโต้อย่างหนักจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทาง สผ. ได้เปลี่ยนท่าทีพร้อมประกาศในภายหลังว่าข้อเสนอนั้นเป็นเพียงแนวทาง และจะไม่กลายเป็นข้อบังคับ บทสรุปเช่นนี้ชี้ว่าเสียงของประชาชนยังคงไม่ได้รับการรับฟังหรือนำมาพิจารณาอย่างเพียงพอในกระบวนการอนุมัติ EIA
การอนุมัติ EIA โครงการ 125 สาทร จึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ความกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนใกล้เคียงได้รับการพิจารณาเพียงผิวเผินและถูกละเลย จึงนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสในกระบวนการอนุมัติ EIA ว่า 1) กระบวนการตัดสินใจนี้สามารถตรวจสอบได้โดยสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่? 2) หน่วยงานสามารถสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของนักพัฒนาและสิทธิของชุมชนที่มีอยู่ได้อย่างไร? และ 3) สผ. จะปกป้องผู้อยู่อาศัยในชุมชนเดิมจากโครงการใหม่ที่สร้างขึ้นในระยะประชิดเกินไปและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร