2 ปีวิกฤติโควิด-19 (2563-2564) นับเป็นปีที่ไม่ง่ายนัก สำหรับอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อย่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กับผลดำเนินงานที่ปฎิเสธไม่ได้ว่า อยู่ในภาวะรายได้ลดลง กำไรหดตัวชัดเจน ขณะ 9 เดือนล่าสุด (ม.ค.-ก.ย.) ส่องรายงานที่บริษัทแจ้งต่อ ตลท. พบอนันดา มียอดขาดทุน อยู่ที่ 237 ล้านบาท
ทั้งนี้ มาจากมาตรการปิดประเทศ ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าคอนโดมิเนียม อย่างกลุ่มคนจีน ไม่สามารถเข้ามาซื้อ-ลงทุนได้เหมือนเก่า และมีอุปสรรคในการโอนกรรมสิทธิ์ ขณะลูกค้าคนไทย ฐานคนเมือง ซึ่งนิยมทำเลติดรถไฟฟ้า ต่างชะลอการตัดสินใจ และเปลี่ยนความต้องการไปสู่สินค้าแนวราบ เพื่อให้รับการ Work From Home ในช่วงโควิดแทน ดิสรัปฯ การซื้อ-ขาย คอนโดฯ สู่จุดหนักหน่วงสุดในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งอนันดาทำยอดขายได้ 639 ล้านบาทเท่านั้น
หน่ำซ้ำ ช่วงปลายเดือน ส.ค. ยังเผชิญกับวิกฤติด้านความเชื่อมั่น จากกรณีศาลปกครองกลางพิพากษา คดี "แอชตัน อโศก" สั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง กับตึกสูง 51 ชั้น มูลค่า 6.5 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งโครงการ ที่ต้องยอมรับว่า เป็นไพร์มแอเรียในแต่ละจุดของกรุงเทพฯ และการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ ทำให้หลังสถานการณ์โควิด19 ในประเทศซึ่งเริ่มคลี่คลาย บวกดับรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ พบขณะนี้ตลาดคอนโดฯติดรถไฟฟ้า เริ่มกลับมาได้รับความสนใจจากลูกค้าอีกครั้ง
โดยอนันดา ประกาศ จากการกระตุ้นการขายผ่านแคมเปญอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถปิดการขาย 100% ในโครงการบ้านและคอนโดฯ ไปได้หมาดถึง 3 โครงการ สร้างมูลค่ารวมกว่า 4,527 ล้านบาท
นั่นเป็นเพียงความมั่นใจแค่ด้านหนึ่ง ที่วันนี้ โก้ - ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา นำทัพทีมงานนับ 60 ชีวิต ประกาศ เตรียมกลับมารักษาแชมป์ Urban Developer หรือ ผู้นำการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
" อนันดา เป็น Urban Developer สร้างคอนโดฯ ติดรถไฟฟ้า ยอมรับที่ผ่านมา 2 ปี ธุรกิจถูกดิสรัปฯ ทั้งแง่โควิด และ การเปลี่ยนแปลงของเมือง - พฤติกรรมผู้บริโภค เราใช้เกมรับ และรุกมาตลอด คำถาม ? Business Model ที่อยู่อาศัยในเมือง ยังมีความสำคัญหรือไม่ แต่พบว่า ต่อให้โควิด สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร วิถีชีวิตของคนเมืองยังคงเป็นความจำเป็น ทั้งกลุ่มคนในวัยทำงาน กลุ่มคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน กลุ่มครอบครัว ตลอดจนกลุ่มระดับลักชัวร์รี่ในเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องการที่พักอาศัยที่มีความสะดวกสบายในการเดินทาง หลีกเลี่ยงรถติด สะท้อน แผนพัฒนารถไฟฟ้า ที่ยังคงดำเนินต่อ เป้าหมาย ปี 2030 รวมนับ 300-320 สถานีที่จะเกิดขึ้น นั่นคือความชัดเจน และโอกาสของเรา "
รีโอเพน เปิดประเทศ ถึงเวลาอยู่ร่วมกับโควิด
นายชานนท์ กล่าวถึงภาพใหญ่สถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจ ที่ยังสร้างความกังวลใจให้การลงทุนและดำเนินชีวิต ว่า ปัจจุบันโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมีทิศทางที่ดีขึ้น เทียบต่างประเทศ สหรัฐ /อังกฤษ เริ่มยอมรับกับการอยู่กับโควิดให้ได้ เพราะการฉีดวัคซีนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ ยิ่ง "ยาโมลนูพิราเวีย" กำลังจะออกมาใช้ จะทำให้การรักษาโควิด ไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่ 5 วันหาย ดังนั้น คงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องยอมรับและปรับตัว
ส่วนกรณีรัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและผู้บริโภค รวมถึงตลาดอสังหาณก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน
" ที่จะกลับมาอย่างแน่นอนก็คือวิถีชีวิตของคนเมือง เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบแตกต่างไปจากเดิมบ้าง ลูกค้าในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น โดยปัจจัยของช่วงอายุ และ Generation จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ หน้าที่ของแบรนด์ในการพัฒนา ก็ต้องมีความเข้าใจ และมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการนั้นๆ ฉะนั้น เรามั่นใจ และเชื่อมั่น ในศักยภาพคอนโดติดรถไฟฟ้าที่ยังเป็นสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี "
อนันดา ลุยเปิดใหม่ 28,000 ล้านบาท ปั้น 3 แบรนด์
สำหรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจช่วงปี 2565 นั้น ประกาศเจตนารมย์ ต้องการกลับมารีบาวด์ โดยใช้ความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ตุนกระแสเงินสดกว่า 5,000 ล้านบาท และเพิ่งได้รับการเพิ่มทุนรวมถึงแผนการออกหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2565 นั้น บริษัทฯ มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น จำนวน 7 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการ และโครงการแนวราบ 2 โครงการ โดยเฉพาะในเซกเม้นท์ไฮเอนด์ หลังพบ เป็นตลาดที่มีความแข็งแกร่งด้านกำลังซื้อ
"หลังจากนี้ จะเห็นประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ผันผวนแต่ก็ยังคงมีดีมานด์หรือความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่เพียงแค่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมโดยขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของลูกค้าที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ ซึ่งอนันดาฯ มั่นใจว่า ตลาดอสังหาฯ กลับมาแน่นอน! และตลาดอสังหาฯ ในเมืองจะกลับมาเร็วกว่าที่คิด "
7 โครงการใหม่อนันดา
1. แบรนด์ โคโค่ พาร์ค พัฒนาเป็นโครงการ โคโค่ พาร์ค (COCO PARC) มูลค่าโครงการ 4,622 ล้านบาท ทำเล ติดรถไฟฟ้า MRT คลองเตย ซึ่งเป็นการปรับโฉมการพัฒนาจาก Ideo Mobi พระราม4 ผ่านการจับมือกันครั้งแรกกับกลุ่มดุสิตธานี โดยจะนำบริการโรงแรมระดับ 5 ดาวของโรงแรมดุสิตธานี มาเป็นจุดแข็งของโครงการนี้ (COCO PARC Managed by DUSIT) นับเป็นคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ก่อนเปิดขาย ระดับไฮเอนด์ จำนวน 486 ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีหน้า
2. แบรนด์ใหม่ Super Luxury คอนโดฯ ซึ่งจะเป็นตัว Top สุดที่เคยทำมา
3. แบรนด์ คัลเจอร์
โครงการ คัลเจอร์ ทองหล่อ (Culture Thonglor) มูลค่าโครงการ 3,383 ล้านบาท ทำเลใจกลางแหล่งธุรกิจและ LIFESTYLE ห่าง 230 เมตรจากสถานีทองหล่อ คาดราคาขาย 1.5 แสนบาทต่อตารางเมตร
โครงการ คัลเจอร์ จุฬา (Culture Chula) มูลค่าโครงการ 6,031 ล้านบาท ห่าง 350 เมตร จาก MRT สามย่าน ตั้งอยู่ใจกลางสถานศึกษาชั้นนำ
4 .แบรนด์ ไอดีโอ ได้แก่
โครงการ ไอดีโอ พหล- สะพานควาย (Ideo Phahol-Saphan Khwai) มูลค่าโครงการ 7,521 ล้านบาท ด้วยที่สุดของทำเล ติดบันไดทางขึ้นรถไฟฟ้าแบบ 0 เมตร
โครงการไอดีโอ รามคำแหง – ลำสาลี สเตชั่น (Ideo Ramkhamhaeng Lam Sali Station) มูลค่าโครงการ 2,085 ล้านบาท ทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าถึง 3 สาย
5. โครงการ อาร์เทล พระราม 9 (Artale Rama9) มูลค่าโครงการ 3,538 ล้านบาท เป็นแบรนด์โครงการบ้านเดี่ยวระดับ Hi-End สไตล์ URBAN LUXURY POOL VILLA
6. NEW HOUSING BRAND ติวานนท์ – แจ้งวัฒนะ แบรนด์โครงการบ้านใหม่ ทั้งทาวน์โฮมและบ้านแฝดในราคาเริ่มเพียง 2 ล้านต้น
ดัน 5 เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์รับรู้รายได้ปีหน้า
ในส่วนของเซอร์วิสอพารท์เม้นท์คาดว่ารายได้ประจำสม่ำเสมอ (Recurring Income) จะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/64 ภายหลังจากการเริ่มเปิดประเทศและรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มในช่วงโควิด อัตราเข้าพักดีกว่าตลาดโรงแรม อยู่ที่ 55% พร้อม คาดว่าปี 2565 โครงการเซอร์วิสอพารท์เม้นท์จะสามารถเปิดดำเนินการได้ทั้ง 5 โครงการ คือ โครงการซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 โครงการแอสคอทท์ แอมบาสซี่ สาทร โครงการแอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก โครงการไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก และโครงการซัมเมอร์เซ็ต พัทยา
ตุน 34 โปรเจ็กต์ 2.8 หมื่นล้านสู้ศึกอสังหาฯ
นายชานนท์ ยังกล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ ยังเกี่ยวกับจังหวะและเวลา เปรียบการลงทุนให้ดูน้ำขึ้นและน้ำลงปีหน้าจังหวะมาแล้ว บริษัทก็พร้อมตีกลองรบ ในภาพใหญ่ ตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา พบดัชนีราคาที่ดินขึ้นตลอด แม้ในช่วงโควิด ฉะนั้น เมื่อคำนวณค่าที่ดิน ก่อสร้าง ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มองว่าการลงทุนใหม่น่าจะเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับดีเวลลอปเปอร์
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโอกาสของการถือครองสต็อก ซึ่งประเมินได้ว่า ใครถือของที่มีค่าได้เยอะกว่าชนะ เราเองเน้นบริหารจัดการสต็อก และการที่โครงการส่วนใหญ่อยู่ในทำเลที่มีโอกาสจะได้เปรียบในการขายและสร้างการรับรู้ทางรายได้ มั่นใจเป็นเบอร์ 1 ตลาดในเมือง ยิ่งในช่วงที่เปิดประเทศ ต่างชาติกลับเข้ามา ให้ความสำคัญกับทำเล ซีบีดี , ธปท.ปลดล็อก LTV ยิ่งเป็นจังหวะเวลาที่ตอบรับ ทั้งนี้ปัจจุบันอนันดา มีสต็อก 2.8 หมื่นล้าน และในปีหน้ามีโปรเจ็กต์ที่กำลังจะแล้วเสร็จอีก 15,000 ล้าน
ส่วนความคืบหน้าคดีแอชตันอโศก ซึ่งทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ร่วมลูกบ้านไปนั้น คาดว่าจะได้รับความเป็นธรรม จากข้อกังขา และความไม่ชัดเจนในคำพิพากษา ซึ่งได้กระทบต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรม อยากให้หน่วยเกี่ยวข้องเร่งแก้บทกฎหมายที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน บริษัทได้ดูแลลูกบ้าน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือในระยะการผ่อน และสื่อสารกับลูกค้า เพื่อสร้างความอุ่นใจตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม พบต่างชาติยังเชื่อมั่น รับโอนต่อเนื่อง "ดูตามกฎหมาย เราเชื่อว่ามีทางออก "...