รัฐบาลมีเป้าหมายนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาใช้เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บรายได้ เลี้ยงตัวเองลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลาง โดยคาดการณ์ว่าในแต่ละปีสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากถึง 70,000 ล้านบาท และเริ่มนับหนึ่งเรียกเก็บภาษี ปี 2563 แต่ในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากภาษีที่ดินเป็นเรื่องใหม่ มีความสลับซับซ้อน บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ ไม่เพียงพอ
เมื่อเทียบกับ ปริมาณ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขยายตัวเพิ่มในแต่ละปี ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 ประชาชน เจ้าของกิจการได้รับผลกระทบ ทั่วประเทศกลายเป็นเมืองร้าง รัฐบาล ประกาศลดหย่อน ภาระภาษี 90% จากยอดที่ต้องจ่ายจริง 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2563-2564)ขณะท้องถิ่นทั่วประเทศขาดรายได้ ทันที นับตั้งแต่ปีแรก
ปลายปี 2564 แนวโน้มการระบาดโควิด-19 เริ่มลดลงเป็นไปในทิศทางบวก รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงระบบฐานรากต่อเนื่อง แต่การขยายอายุ มาตรการลดหย่อน ภาระค่าใช้จ่ายภาษีที่ดิน 90% ในปี 2565 กลับเงียบหาย ในทางกลับกัน มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังมีแนวโน้มอาจไม่ลดหย่อนภาษีดังกล่าว เพราะหลายกิจการกลับมาเปิดให้บริการเกือบเป็นปกติ มีเม็ดเงินหมุนเวียน แต่สถานการณ์กลับเลวร้าย เมื่อเปิดศักราชใหม่ปี 2565 โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนถล่มประเทศอีกครั้ง เป็นระลอก 5
นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินในสังกัดกระทรวงการคลัง ยัดไส้ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้คงอัตราเดิมอีก 2 ปี ในปี 2565-2566 โดยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบส่งผลให้หลายฝ่ายเข้าใจว่ารัฐบาลได้ขยายลดค่าใช้จ่ายจากภาษีที่ดินลง 90% ต่อเนื่องอีก 2 ปี แต่เมื่อดูไส้ใน ที่จริงแล้วเป็นลักษณะให้ใช้อัตราการเรียกเก็บภาษี ในโครงสร้างเดิมเหมือน ปี 2563-2564 หากเป็นเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อภาพพจน์รัฐบาลที่ส่อเจตนาเรียกเก็บภาษี 100% กับประชาชนเจ้าของธุรกิจโรงแรม ห้างร้านทั้งที่ยังไม่พ้นปากเหว
จี้คลังลดภาษีที่ดิน90%
พร้อมกันนี้ นายอธิป เตรียมทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ขยายมาตรการลดภาษีที่ดินลง 90% ต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ เพราะมองว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านจากปี 2564 มาปี 2565 เศรษฐกิจยังชะลอตัว ธุรกิจยังติดลบ ปิดกิจการ ไม่ต่างจากปีดก่อน แต่สิ่งปลูกสร้างยังอยู่ หากต้องมาแบกรับภาษี 100% เชื่อว่าประชาชนไม่ยินยอม ขณะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีสต๊อกที่มาก หากขายไม่หมดเสี่ยงต้องแบกภาระภาษีที่ดินสูงเช่นกัน
ขณะก่อนหน้านี้ 3 สมาคมบ้าน ประกอบไปด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อขอให้กระทรวงการคลังลดภาระการจ่ายภาษี 90% เพื่อช่วยเหลือประชาชน ประคองเศรษฐกิจต่อไป
นายอธิปคาดการณ์ว่าธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ ฯลฯ จะต้องชะลอตัวยาวไปอีก 2-3 ปี นับจากนี้ ขณะหลายฝ่ายฉายภาพลวงตาว่า จีดีพี หรือเศรษฐกิจมวลรวมประเทศโต 3% ในปี 2565 แต่ข้อเท็จจริงโตจากจุดต่ำสุด เท่ากับยังไม่โตเท่ากับช่วงปกติที่ผ่านมา
ด้านนายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกสมาคมพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย เผยว่าได้เตรียมประชุมท้องถิ่น 5 ภาค เพื่อสรุปแนวทาง ลดผลกระทบ 2 ข้อ ได้แก่ 1. ชดเชยภาษีที่ดินที่ขาดหายไป 90% ให้กับ อปท.ทั่วประเทศ 2.ศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง
ที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2562 เฉลี่ยท้องถิ่นทั่วประเทศจัดเก็บได้ เกือบ 4 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อใช้ภาษีตัวใหม่ กลับเก็บได้ไม่ถึงครึ่งทั้งที่รัฐบาลตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 7 หมื่นล้านบาท
ขณะแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ท้องถิ่นทั่วประเทศจะเรียกเจ้าของที่ดินชำระภาษี ภายในเดือนเมษายนนี้ แต่ยังรอดูท่าทีว่ากระทรวงการคลังจะเสนอลดหย่อน 90% หรือไม่หากไม่ลดแต่ให้ท้องถิ่นจัดเก็บ 100% เท่ากับรัฐบาลให้ อปท. แบกหน้าชนกับประชาชน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีรายใดยินยอม ในมุมกลับกันหากรัฐบาลลดภาษีรายได้จากการจัดเก็บในปี 2565 จะไม่ต่างจากปี 2563-2564
อย่างไรก็ดีปี 2564 การจัดเก็บภาษีอาจใกล้เคียงหรือเพิ่มขึ้นกว่า ปี 2563 เล็กน้อย เพราะแต่ละองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลเริ่มเข้าใจสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากขึ้นขณะการชดเชยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณปี 2564 กว่า 10,000 ล้านบาท ชดเชยให้เฉพาะ อบต. และ เทศบาลตำบล 7,547 แห่ง เฉลี่ย1.33 ล้านบาท ต่อแห่งสำหรับปี 2563 ส่วนปี 2564 คาดว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณในไม่ช้า
โดยปี 2563 ท้องถิ่นทั่วประเทศจัดเก็บภาษีที่ดินได้ รวม 3,339 ล้านบาท จาก 10% ของยอดเต็มที่เรียกเก็บ หากจัดเก็บ 100 % จะมีรายได้ 33,390 ล้านบาท ส่วนปี 2564 รอรายงานจากกระทรวงการคลัง คาดว่าจะใกล้เคียงหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563
เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่คาดว่ารัฐบาลน่าจะลดภาษีที่ดินให้กับประชาชน เพราะ สถานการณ์ยังไม่ปกติโดยปี 2564 จัดเก็บภาษีได้ 1,800 ล้านบาทสูงกว่าปี 2563 ที่จัดเก็บได้ 1,200 ล้านบาท โดยปี 2565 ประชาชนจะเสียภาษีอัตราไม่ต่างจากปี 2564 เพราะราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์จะปรับขึ้นในปี 2566
สำหรับอัตราภาษีที่ดินปี 2565-2566 เกษตร (บุคคลธรรมดา) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี เกษตร (นิติบุคคล) 0.01 - 0.10% (ตามราคาประเมินที่ดิน) พาณิชย์ 0.3 - 0.7% บ้านหลังแรก (บ้านพร้อมที่ดินมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เสียภาษี เกิน 50 ล้านบาท 0.03-0.10% เฉพาะตัวบ้านเกิน 10 ล้าน 0.02 - 0.10% บ้านหลัง 2 0.02%-0.10% ที่ดินว่างเปล่า 0.3% ทิ้งร้างติดต่อกัน 3 ปี อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3% และจะเพิ่มขึ้นทุก 3 ปีแต่สูงสุดไม่เกิน 3%