รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบูมโซนตะวันออก กทม.

15 ม.ค. 2565 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 19:24 น.

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รฟม.เตรียมลงแส้สร้างเต็มสูบ บูมโซนตะวันออก กทม. ผ่านที่ดินแปลงใหญ่เกษตร-นวมินทร์ เจ้าสัวเจริญ คาดเปิดใช้เส้นทางปี2570 ดันราคาที่ดินพุ่งตลอดแนว เชื่อมจุดเปลี่ยนถ่ายสายสีเหลือง-ส้ม บางกะปิ-ลำสาลี

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)มีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาทโดยคาดว่าจะเปิดใช้เส้นทางในปี2570เชื่อมโยงการเดินทางระบบราง ทุกระบบเป็นเนื้อเดียวในอนาคตอันใกล้ และส่งผลดีต่อที่ดินตลอดแนวโดยเฉพาะโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานครราคาที่ดินขยับสูง เป็นทำเลทองขอการพัฒนา ที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวดิ่ง

  โดยเฉพาะที่ดินแปลงของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี บริเวณถนนเกษตรนวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ที่อาจจะถูกพลิกโฉมจากสวนมะม่วง กลายเป็น เมืองอัจฉริยะ รับรถไฟฟ้าเปิดให้บริการในอนาคต โดย ปัจจุบัน รฟม.ได้เริ่มต้นดำเนินการในขั้นตอนเตรียมประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการดังกล่าวแล้ว โดยพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)

โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จำนวน 20 สถานี โดยพื้นที่โครงการฯ มีส่วนซ้อนทับกับโครงสร้างทางพิเศษ หรือทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 บนแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นระยะทาง 7.2 กิโลเมตร (จำนวน 6 สถานี) เบื้องต้นของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งเป็นคานคอนกรีตที่วางบนคานขวาง และ Bearing Shoe

ออกแบบให้มีเสาตอม่อสายสีน้ำตาลแทรกระหว่างเสาทางด่วนที่ก่อสร้างไว้แล้ว มีระยะระหว่างช่วงตอม่อประมาณ 25 – 30 เมตร

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบูมโซนตะวันออก กทม.

เมื่อถามถึงความคุ้มค่าต่อการลงทุนสายสีน้ำตาล ต้องยอมรับว่า รถไฟฟ้าสายนี้ จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม เบื้องต้น รฟม.คาดการณ์ว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีปริมาณผู้โดยสารราว 2.18 แสนคนเที่ยวต่อวัน

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบูมโซนตะวันออก กทม.

แนวเส้นทางสายสีน้ำตาล จะเริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา – อาจณรงค์)

จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง ถือเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ