พฤกษาปิดฉากที่ดินตลาดแฮปปี้แลนด์ 2,000ล้าน

22 ม.ค. 2565 | 05:42 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2565 | 11:31 น.

ชุมชนต้านฉุดEIA ไม่ผ่าน พฤกษาถอดใจ ยกเลิกซื้อที่ดินตลาดแฮปปี้แลนด์ บางกะปิ12ไร่ 2,000ล้านสร้างคอนโดแนวสายสีเหลือง  หลัง 4ปี บริษัทแฮปปี้แลนด์ เคลียร์ไม่ได้ ตามเงื่อนไขสัญญา 

 

"EIAไม่ผ่านชุมชนต่อต้าน" แผนพลิกโฉมตลาดสดแฮปปี้แลนด์ ย่านบางกะปิ เป็นคอนโดมิเนียม กว่า2,000หน่วยมีอันต้องปิดฉากลงเมื่อบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน12ไร่ มูลค่ากว่า2,000 ล้านบาทกับบริษัทแฮปปี้แลนด์กรุ๊ปจำกัด แลนด์ลอร์ดใหญ่เนื่องจาก ไม่สามารถรวมแปลงที่ดินจากอาคารพาณิชย์บางส่วน เพื่อทำทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะอย่างถนนแฮปปี้แลนด์1ได้

ประกอบกับชุมชนต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาบริเวณดังกล่าวเป็นโครงการคอนมิเนียมสูงเพราะจะสร้างผลกระทบต่อชุมชน เป็นสาเหตให้ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนพื้นที่โดยรอบเพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIA มีอันต้องจบสิ้นลง

พฤกษาปิดฉากที่ดินตลาดแฮปปี้แลนด์ 2,000ล้าน

 

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตทจำกัด(มหาชน)เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทยกเลิกซื้อที่ดินตลาดสดแฮปปี้แลนด์และพื้นที่ที่จอดรถของบริษัทแอปปี้แลนด์กรุ๊ปเนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ทำให้ที่ตั้งโครงการมีปัญหาเกี่ยวกับทางเข้าออกไม่สามารถสร้างตึกสูงใหญ่ได้

หากย้อนไปปี2561  บริษัทได้มีเงื่อนไขตกลงกับบริษัทแฮปปี้แลนด์ว่าหากไม่สามารถเจรจาทำความเข้าใจกับชุมชนได้การซื้อขายต้องสิ้นสุดลง 

พฤกษาปิดฉากที่ดินตลาดแฮปปี้แลนด์ 2,000ล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจที่ดินแฮปปี้แลนด์พบว่าถูกโอบล้อมไปด้วยอาคารพาณิชย์ชุมชนขนาดใหญ่ย่านการค้าที่อยู่อาศัยเก่าแก่  ปัจุบันถูกปล่อยทิ้งร้าง หลังจากรื้อในส่วนของตัวตลาดสด และบริเวณที่จอดรถออกไป พื้นที่บางส่วนปลูกกล้วยเพื่อลดผลกระทบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ป้ายประกาศให้แผงผู้ค้าในตลาดออกจากพื้นที่เพื่อไปอยู่ยังตลาดแห่งใหม่ยังมีให้เห็น

ทำเลที่ตั้งแปลงที่ดินยอมรับว่ามีศักยภาพสูง เหมาะแก่การพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวดิ่งเพราะที่ดินมีราคาสูงห่างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองไม่มาก แวดล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างเดอะมอลล์ ,แอปปี้แลนด์เซ็นเตอร์ เอ็นมาร์คพลาซา(ห้างน้อมจิตต์เก่า ) และตะวันนาย่านช็อปปิ้ง จุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก ระบบราง ที่ประเมินว่าจะเป็นศูนย์การเดินทางมีคนเข้าใช้บริการมากอีกแห่งหนึ่ง

จากการสอบถาม นางผ่องศรี สังข์ขิน ผู้อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าวระบุว่า “ชุมชนไม่เห็นด้วยที่จะก่อสร้างตึกสูงเกิน 20-30ชั้นหากสร้างเป็นอาคารแนวราบน่าจะพอรับได้ ที่สำคัญ เอกชนยังต้องการซื้อตึกแถวไม่ต่ำกว่า40-50คูหาเพื่อทำเป็นทางเข้าออกเชื่อมถนนสาธารณะ มองว่าได้ไม่คุ้มเสีย

สำหรับราคาที่ดิน เมื่อ4ปีก่อนราคาตารางวาละ2แสนบาทราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์อยู่ที่1แสนบาทต่อตารางวาเมื่อรถไฟฟ้ามาได้ขยับสูงไปหลายเท่าตัวและในอนาคตที่ดินแปลงนี้จะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

ตึกแถวที่ชาวบ้านไม่ขาย