เมื่อประสบการณ์ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ 'ต้มยำกุ้ง' ครั้งเป็น พนักงาน บริษัท สินทรัพย์นคร อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ในช่วงปี 2540 ได้กลายเป็น 1 ใน จุดแข็งของ 'กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์' ซีอีโอ บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน ) หรือ ASW ซึ่งวันนี้เขาถูกจับตามองจากคนในวงการ ฐานะ อสังหาฯน้องใหม่ไฟแรง ในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่งออก IPO ระดมทุน ในช่วงสถานการณ์โควิด19 ได้ไม่นาน แต่กลับสร้างสีสันให้กับตลาดไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มปี 2565 ปิดดีลการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ 'ทาคาระ เลเบ็น' ผุดโครงการบนทำเลทอง "แอทโมซ บางนา" มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน เข้าเทคโอเวอร์คอนโดมิเนียมใจกลางเมือง กวาด "แม็กซี่ ไพร์ม รัชดา - สุทธิสาร " เข้าพอร์ตอีก 1 โครงการ
ในแง่คนทั่วไป ชื่อ ASW เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังเป็นนามผู้สนับสนุนเวทีนางงามดัง และ 1ในพันธมิตรเปิดตัวเหรียญ Popcoin สินทรัพย์ดิจิทัลที่มาแรงแห่งยุค ทั้งนี้ แม้สูตรลัดข้างต้น ไม่ได้แปลกใหม่ สำหรับหนทางสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ ซึ่งมีเป้าหมายใหญ่ ปีนไต่ขึ้น TOP 10 ในอุตสาหกรรม แต่ในแง่มุมมอง- การแตกไลน์ธุรกิจ และ โปรดักส์มีความน่าสนใจไม่น้อย "ฐานเศรษฐกิจ" ถอดโมเดลธุรกิจ ASW ในวันที่ 'ยืนขาเดียว' ไม่พอ กับ ภาวะยากลำบากของกำลังซื้อ
18 ปี พัฒนาโครงการ 3.4 หมื่นล.
พลิกปูม ASW ก่อตั้ง เมื่อปี 2548 รวมทุนจดทะเบียน กว่า 856 ล้านบาท มีบริษัทในเครือรวม 25 บริษัท ธุรกิจหลัก คือ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย แบรนด์ดัง เช่น Modiz (โมดิซ), Atmoz (แอทโมซ) และ Kave (เคฟ) รวมถึง บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และ โฮมออฟฟิศ พบ ณ สิ้นปี 2564 มีโครงการสะสมทั้งสิ้น 38 โครงการ กว่า 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายกรมเชษฐ์ เผยว่า ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างเปิดขาย 9 โครงการ และมียอดขายรอรับรู้รายได้อยู่ที่ 7,338 ล้านบาท
เจาะยอดขาย พบเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วง 2 ปีวิกฤติโควิด ปี 2562 อยู่ที่ 5.3 พันล้านบาท ,ปี 2563 อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท และ ปี 2564 เติบโตระดับ 8.8 พันล้านบาท สอดคล้องตัวเลขรายได้สูงขึ้นตามลำดับ จาก 2.6 พันล้านบาท สู่ 4.2พันล้านบาท ในปี 2563 ขณะ ปี 2564 อยู่ระหว่างแจ้งต่อตลท. คาดจะทำนิวไฮสูงสุด เป็นภาพฉายถึงความสำเร็จเบื้องต้นของ บมจ.แอสเซทไวส์
เศรษฐกิจ-การเมือง ปัจจัยหลักทำธุรกิจ
นายกรมเชษฐ์ เผยมุมมองต่อภาคธุรกิจอสังหาฯไทยในปี 2565 ว่า เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบวกกับมาตรการรัฐ เช่น ดอกเบี้ยต่ำ , การปลดล็อก LTV ที่รอคอยมานานหลายปี ช่วยคลี่คลายบรรยากาศฟองสบู่ และ มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดจำนอง - โอนกรรมสิทธิ์ คาดจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อตลาดที่อยู่อาศัย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่ากังวลตามมาอยู่มาก เช่น ระลอกวิกฤติเล็กๆทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อแน่นอน และโจทย์ใหญ่กลับเป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม อย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ,สงครามการค้าจีน-สหรัฐ
ขณะการเมืองในประเทศ มองมุมบวก โดยเฉพาะข่าวการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ซึ่งภาพรวมโปรไฟล์ผู้ลงสมัครน่าสนใจกว่าทุกครั้ง ส่วนข่าวการยุบสภา กังวลระยะสั้น ต่อความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก เช่น คนละครึ่ง , บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อย่างไรก็ตาม ฐานะเอกชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเต็มที่ ซึ่งทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ,แนวโน้มค่าแรง หรือ ค่าที่ดิน ที่ดีเวลลอปเปอร์เริ่มกังวล ส่วนตัวมอง ยังไม่ใช่กับดักสำคัญ ที่จะผลักดันให้ราคาบ้านปีนี้สูงขึ้นได้ ฉะนั้น ยังเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ และจังหวะเร่งขยายธุรกิจ
คัดทำเลลุยเปิดใหม่ 1.24 หมื่นล.
โดยปีนี้ บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 7 โครงการ มูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท ปรับพอร์ตโครงการบ้านเพิ่มขึ้นเพื่อรับอานิสงค์ดีมานด์ในตลาด แบ่งคอนโดฯ 60%จำนวน 5โครงการ และ บ้าน 40% จำนวน 2 โครงการ
ทั้งนี้ นายกรมเชษฐ์ กล่าวว่า จุดแข็งของบริษัท คือ นอกจากมีส่วนกลางขนาดใหญ่ ใช้ได้จริงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนซื้อยุคใหม่ การพัฒนาโครงการยังเน้นเรื่องทำเลที่ตั้ง เพื่อเป้าหมายยอดขายสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ มองการขยายตัวของกทม. ผ่านรถไฟฟ้าสายใหม่ ,ทางด่วน เป็นการเปิดหน้าดิน เพิ่มทำเลที่อยู่อาศัยใหม่ๆของคนเมือง ถือเป็น บลูโอเชี่ยน ในการสร้างการเติบโตของบริษัท
เจาะโซนเหนือ อย่างรังสิต ปักหมุดทั้งคอนโดฯ และบ้านเดี่ยว แบรนด์แอทโมซ และ เอสต้า ในระดับราคาเข้าถึงได้ คอนโดฯเริ่มล้านต้นๆ ,บ้าน 3 ล้าน เพราะมองปีนี้เศรษฐกิจยังเปราะบาง หรือ แม้แต่มีนบุรี เบื้องต้น ตุนที่ดินติดรถไฟฟ้า 34 ไร่ เตรียมเปิดเฟสแรก (แอทโมซ โฟลว์) ก่อนขยายเฟสและขยายเป็นทาวน์ชิฟ พ่วงคอมมูนิตี้มอลล์ในอนาคต
"แผนคอนโดฯในมือมีมากกว่า 5 รอจังหวะเหมาะสม พร้อมเปิดเพิ่ม เนื่องจากมีที่ดินรออีก 3-4 แปลง จะดูทั้งอัตราการขายของคู่แข่ง ,สภาพโอมิครอน และ ปัจจัยเศรษฐกิจโลก แต่ทุกโครงการจุดแข็งหลักคือทำเล เช่น เคฟ ซีด เกษตร เราได้ที่ดินซึ่งติดสถานี ม.เกษตร คาดจะได้รับการตอบรับสูง"
เปิดไผ่ใหม่ลุยจับมือ-แตกไลน์นอกอสังหาฯ
เงินทุนก้อนแรก 2 พันล้าน จากการระดมทุน ยังเปิดโอกาสให้ ASW ขยายธุรกิจเชิงรุกมากขึ้น พบขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาของพันธมิตรทั้งไทยและ ต่างชาต เกาหลี-ญี่ปุ่น ในการร่วมทุนเพิ่มเติมอีก รวมถึงการเข้าไปลงทุนในแง่ควบรวมกิจการ M&A ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน 5-10%ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากโอกาสเสนอขายโครงการสร้างเสร็จเข้ามาเรื่อยๆ นายกรมเชษฐ์ ระบุ เป็นโอกาสสร้างรายได้และกำไรในเวลารวดเร็ว ปัจจุบันมีการพูดคุยลักษณะนี้อยู่ 3-4 ราย แต่ทั้งนี้ จะดูถึงความพร้อมของบริษัทในการรับช่วงต่อ ควบคู่กับการบริหารสต็อกพร้อมขาย 4-5 พันล้านบาทในมือด้วย
ปัจจุบัน ยังสนใจขยายกลุ่มธุรกิจสร้างรายได้ประจำเพิ่มเติม โดยในปีนี้ มีแผนลงทุนคอมมูนิตี้มอล Mingle Mall แห่งที่ 3 ในทำเลมีนบุรี 400-500 ล้านบาท หนุนรายได้ราวปีละ 30-50 ล้านบาท และ ลงทุนในธุรกิจสุขภาพและความงาม ผ่านบริษัท ดับบลิวเอชบี จำกัด หลังพบว่าตลาดดังกล่าวมีโอกาสเติบโตสูงมากในยุคนี้
"จากกลยุทธ์ 3 ขาเบื้องต้น จะรองรับสถานการณ์ปีนี้ ที่เศรษฐกิจคงไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ การมีอาชีพเดียว หรือ ธุรกิจเดียว คือ ความเสี่ยง บริษัทเองพยายามหาธุรกิจหลักใหม่ๆ ทั้งการซื้อหุ้น และจัดตั้งบริษัทใหม่ ทดลองและเสริมแกร่งการเติบโตอย่างยั่งยืน "