นโยบายเปิดสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานรูปแบบออนไลน์ภายใต้แนวคิด “คนกรุงสบายจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ใกล้บ้าน” ของกรมที่ดินสังกัดกระทรวงมหาดไทยนับเป็นอีกก้าวความสำเร็จ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีบริการประชาชน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทางด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
โดยยึดหลักภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยและระบบการทำงานที่เป็นดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ในการพัฒนาให้บริการประชาชนในยุค Digital Transformation ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็วและโปร่งใส
ที่ผ่านมาพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบนโยบายให้กรมที่ดินพัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างสำนักงานแบบออนไลน์ ในเวลาต่อมากรมที่ดินได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศที่ดิน
โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของสำนักงานที่ดินซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการภาครัฐให้ทันต่อโลกยุคดิจิทัลที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการจดทะเบียนที่ไม่ต้องมีการประกาศหรือรังวัดกับสำนักงานที่ดินได้ทุกแห่งใกล้บ้าน
นำร่องในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร17 สาขา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องในโอกาสกรมที่ดินครบรอบ121 ปี ก่อนขยายสู่จังหวัดในภูมิภาคครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนงานปีต่อไป
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า จาก กรมที่ดินได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้บริการที่สำนักงานที่ดินให้ได้รับความสะดวกสบายสูงสุดลดค่าใช้จ่าย สอดรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรมตลอดจนได้เห็นวิวัฒนาการการให้บริการทำบัตรประชาชนในต่างพื้นที่ จึงนำไปสู่การให้บริการรูปแบบใหม่จดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานออนไลน์ใกล้บ้าน อย่างไรก็ตามกว่าจะพัฒนาระบบและเปิดให้บริการไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
1.ต้องแก้ไขกฎหมาย
2.เตรียมความพร้อมให้เจ้าพนักงานที่ดินลงนามแทนสาขาอื่นได้
3.นำสารบบที่ดินทั่วประเทศจำนวน 39 ล้านแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัล
4.ต้องพัฒนาระบบจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Payment ทุกสาขาให้เกิดขึ้นพร้อมกัน
5.พัฒนาระบบสารสนเทศ หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงสำนักงานที่ดิน 461 สาขา
6.พัฒนาเครื่องมือให้มีความพร้อม เช่นคอมพิวเตอร์ ระบบลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานที่ดิน เครื่องอ่านบัตรประชาชน
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายพัฒนาระบบ 5 ปี กรมที่ดินเร่งรัดภายใน 3 ปีให้เกิดเป็นรูปธรรมจึงเกิดการทำนิติกรรมต่างสำนักงานเปิดตัวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เหตุผลที่เริ่มในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งบุคลากร อุปกรณ์การให้บริการ โฉนดที่ดินมากกว่า 2.2 ล้านจาก 34.4 ล้านแปลงทั่วประเทศ
ทั้งนี้ในแต่ละปีมีประชาชนผู้มาใช้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกว่า 9 แสนคนจัดเก็บรายได้มากกว่า 2,500-3,000 ล้านบาท/ต่อปี หากขยายการดำเนินการต่างสำนักงานที่ดินไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ จะเพิ่มปริมาณงานหลายเท่าตัวส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศหมุนเวียน
โดยเฉพาะการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์การซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยจะพบกับความสะดวกคล่องตัว แตกต่างกับการให้บริการรูปแบบเดิมที่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดิน ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ก่อให้เกิดการเสียเวลารอคอย มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าโดยสารในทุกช่องทางอีกทั้งค่าใช้จ่ายจากการพักค้างแรม
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ประชาชนต้องเตรียมความพร้อม5ขั้นตอนก่อนใช้บริการ
“ขั้นตอนที่1” เจ้าของที่ดินยื่นคำ ขอผ่านระบบ e-QLands ล่วงหน้าเวลาทำ การ 3 วันจากนั้นดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน e-QLands ผ่านสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ IOS และAndroid และลงชื่อเข้าใช้เลือกรายการจองคิวจดทะเบียนต่างสำนักงาน (เฉพาะกทม.) เลือกสำนักงานที่ดินประเภทคำขอเอกสารหลักฐานตรวจสอบหลักฐานจากนั้นกดจองคิว
“ขั้นตอนที่2” สำนักงานที่ดินเปิดระบบ e-QLands และรับคำขอตรวจสอบข้อมูลประสานสำนักงานที่ดินเจ้าของพื้นที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง จากนั้นรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่
“ขั้นตอนที่3” เมื่อถึงวัดนัดหมายเจ้าของที่ดินและคู่สัญญาเดินทางไปสำนักงานที่ดินด้วยตนเองพร้อมโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชน
“ขั้นตอนที่4” เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินยืนยันการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องตามระเบียบกรมที่ดิน เจ้าของที่ดินเสียบบัตรประชาชนเข้าเครื่องอ่านบัตรเจ้าพนักงานจดทะเบียนโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
“ขั้นตอนที่5” เจ้าพนักงานที่ดินมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินคืนให้กับเจ้าของที่ดิน
“การจดทะเบียนออนไลน์จะทำให้ระยะเวลาที่ประชาชนมาทำนิติกรรมสั้นลงเพราะเจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารพร้อม คือสำนักงานที่มีโฉนดที่ดินตั้งอยู่ ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานความถูกต้องก่อนจดทะเบียนต่างสำนักงาน ดังนั้นประชาชนจะสบายลดค่าใช้จ่าย แต่เจ้าหน้าที่ทำงานหนักขึ้นทั้งสองสาขาจากเดิมทำงานสาขาเดียว”
สำหรับแผนขยายการให้บริการสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ ไปจังหวัดภูมิภาค ปี2566 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มีการทำนิติกรรมสูง อุบลราชธานีหนองคาย เชียงใหม่ สงขลา และปี 2567 ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เพชรบุรี สิงห์บุรี
ประเมินว่า หากที่ดินตั้งอยู่จังหวัดหัวเมืองใหญ่ สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในเขต กทม. ได้ เชื่อว่าในอีกไม่ช้า 76 จังหวัด จะจดทะเบียนออนไลน์ต่างสำนักงานได้อย่างเสมอภาค สร้างความสะดวก สบาย ใกล้บ้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เกิดการหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง