6 มีนาคม 2565 - หลายคนคุ้นกับชื่อ “สะพานเขียว” โดยเฉพาะผู้ที่หลงใหลการปั่น หรือผู้ที่ชื่นชอบการเดินถ่ายรูปเก๋ ๆ คงได้เคยแวะไปเยือนกันมาแล้ว สำหรับทางจักรยานลอยฟ้าแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติที่มีมากว่า 20 ปี ซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและสภาพการใช้งานมายาวนาน
ล่าสุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า นโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามแนวคิด “ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต” ได้ปักหมุดพื้นที่บริเวณนี้เพื่อพัฒนาเมืองในมิติใหม่ทั้งระบบ ซึ่งสะพานเขียวจะเป็นหนึ่งในหลายๆ แห่งที่จะถูกเปลี่ยนโฉมใหม่ และกำลังเริ่มปรับตั้งแต่เดือนมีนาคมและคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานในเดือนกันยายน 2565 นี้
คือ โครงการปรับปรุงฟื้นฟูสะพานคอนกรีตเก่าสร้างในปี พ.ศ. 2542 และพื้นที่เกี่ยวเนื่องริมคลองไผ่สิงโต มีจุดเริ่มต้นจากถนนรัชดาภิเษก ลัดเลาะตามแนวรอยต่อระหว่างสวนเบญจกิติกับคลองไผ่สิงโต ลอยข้ามผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและชุมชนโปโล-ชุมชนร่วมฤดี มาบรรจบกับสวนลุมพินีบริเวณแยกสารสินของถนนวิทยุ ความยาวรวมประมาณ 1.6 กิโลเมตร
โดยได้รับความร่วมมือจาก UddC-CEUS ร่วมกับ LRIC สตูดิโอใต้หล้า ATOM DESIGN, LANDSCAPE COLLABORATION, QBIC และ THAITHARM ที่อาสาช่วย กทม.ออกแบบปรับปรุง โดยเป้าหมายเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้น่าใช้งานและเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบมากขึ้น ด้วยภูมิสถาปัตยกรรมและแสงสว่าง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
Green Bridge เป็นการสร้าง “สถานที่แห่งใหม่ของเมือง” หรือแลนด์มาร์กที่จะเชื่อมเมืองและเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน นั่นคือ การเชื่อมโยงของถนนสายธุรกิจหลักของเมือง ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก และถนนวิทยุ ให้ผู้คนสามารถสัญจรติดต่ออย่างมีพลวัติ เชื่อมโยงเชิงนิเวศ
โดยเชื่อมระหว่างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ระดับเมืองสวนสาธารณะทั้งสองแห่งให้เป็น Central Park เชื่อมโยงการสัญจรแบบเท่าเทียมด้วยการเดินเท้าและจักรยาน ให้ผู้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้แบบไร้รอยต่อจากโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและโครงการที่มีอยู่โดยรอบโดยการออกแบบอารยสถาปัตย์ และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงกับชุมชนพหุวัฒนธรรม ที่มีศูนย์กลางเป็นศาสนสถานและโรงเรียน ให้เกิดยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคม
สะพานเขียวโฉมใหม่จึงไม่ได้เป็นแค่สะพานที่มีสีเขียว แต่จะมีสวนลอยน้ำที่ใช้พืชที่มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย พร้อมจัดวางทางจักรยานและลานกิจกรรมเหนือน้ำ ตลอดจนทางเดินลอยน้ำที่ยืดหยุ่นไปตามระดับน้ำขึ้นลง เป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ของเมือง มีสวนสะพานหรือสวนลอยฟ้าที่ผู้คนสามารถเดินเล่น พักผ่อน วิ่งออกกำลังกาย ขี่จักรยานจากสวนเบญจกิติไปยังสวนลุมพินีได้โดยยังรู้สึกเหมือนยังอยู่ในสวน
นอกจากนี้ ได้มีการออกแบบให้รองรับกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าการนั่งเล่นชมทัศนียภาพเมือง การเรียนรู้ และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ รวมทั้งปรับพื้นที่จุดอับและเสื่อมโทรมใต้สะพาน-เหนือคลองไผ่สิงโต สู่พื้นที่อเนกประโยชน์ของชุมชนที่สะอาด โปร่งโล่ง มีสุขภาวะ เป็นพื้นที่ที่ชาวชุมชนสามารถใช้นั่งพักผ่อนและค้าขายได้ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมของชุมชน
ที่สำคัญการปรับปรุงพื้นที่สะพานลอยข้ามถนนรัชดา ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และวิทยุ สู่ทางเข้าโครงการที่เป็นจุดหมายตาให้ผู้คนจดจำ และ “ลานคนเมืองลอยฟ้า”ขนาดย่อม ในการจัดกิจกรรมเทศกาลต่างๆ คลุมด้วยโครงสร้างกันแดดกันฝนที่โปร่งเบา มีรูปทรงเป็นที่จดจำของเมือง
ที่มา : เพจประชาสัมพันธ์ กทม.