23 มีนาคม 2565 - ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 การลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้านอุปสงค์ และอุปทาน เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 สถานการณ์โดยรวมเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว เมื่อผู้ประกอบการลดการเติมอุปทานใหม่เข้ามาในตลาด ส่งผลให้อัตราดูดซับเริ่มดีขึ้น โครงการเหลือขายลดจำนวนลง
ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2565
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงของการฟื้นตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปทานคาดการณ์ว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.3 เพิ่มจาก 2,450 หน่วย ในปี 2564 เป็น 3,928 หน่วยในปี 2565 ขณะที่จำนวนหน่วยเหลือขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 โดยหน่วยเหลือขายจะเพิ่มขึ้นจาก 10,439 หน่วย ในปี 2564 เป็น 12,795 หน่วย ในปี 2565 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 โดยเพิ่มขึ้นจาก 36,095 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 43,505 ล้านบาท
ในส่วนของอุปสงค์คาดการณ์ว่าภาพรวมหน่วยขายได้ใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเพิ่มจาก 3,973 หน่วย ในปี 2564 เป็น 4,206 หน่วย ในปี 2565 มูลค่าการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 โดยเพิ่มจาก 12,945 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 13,560 ล้านบาท ในปี 2565 ส่งผลให้อัตราดูดซับโดยภายรวมในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ยังคงทรงตัวอยู่ในอัตราร้อยละ 2.4
อย่างไรก็ดี ในปี 2565 จังหวัดหลัก คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่น่าจับตา โดยจังหวัดนครราชสีมาคาดว่าจะมีหน่วยเปิดขายใหม่จำนวน 1,917 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 106.0 คิดเป็นมูลค่า 5,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.7 โดยคาดการณ์ว่าจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน 1,865 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 คิดเป็นมูลค่า 6,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ส่วนหน่วยเหลือขายเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยเหลือขาย 5,960 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 คิดเป็นมูลค่า 20,978 ล้านบาท
ส่วนจังหวัดขอนแก่น ทิศทางการขยายตัวอยู่ในกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก คาดว่าจะมีหน่วยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน 1,195 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.4 คิดเป็นมูลค่า 3,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 มีหน่วยขายได้ใหม่ 1,151 หน่วย ลดลงร้อยละ -0.3 คิดเป็นมูลค่า 3,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ขณะที่มีหน่วยเหลือขาย 3,274 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 มูลค่า 10,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5
“ความเคลื่อนไหวของตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงต้องให้ความระมัดระวังในด้านการเติมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด เนื่องจากทุกจังหวัดอัตราดูดซับยังอยู่ในระดับทรงตัว หากเติมสินค้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นหน่วยเหลือขายก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และโดยภาพรวมตลาดยังคงเป็นของที่อยู่อาศัยแนวราบในกลุ่มราคาไม่สูง”