24 มีนาคม 2565 - ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ได้รับความสนใจในนโยบายการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ โดยการใช้ ‘สถานีรถไฟ’ เป็นศูนย์กลางควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mixed Use) จัดสรรให้มีทั้งพื้นที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งบริการพื้นฐานต่างๆ เพื่อใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แนวการพัฒนารูปแบบดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนให้ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ การพัฒนาขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูงจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น
เอสอาร์ที แอสเสท บริษัทลูก เดินหน้าฟื้นรายได้ รฟท.
หนึ่งในองค์กรที่จะช่วยผลักดันแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ (TOD) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ที่พรั่งพร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เข้ามาดำเนินงานตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาคือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนที่ได้รับมอบหมาย ตามแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 38,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงธุรกิจเพื่อนำรายได้จากบริษัทมาลดภาระหนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและรักษาประโยชน์ส่วนรวมของประเทศต่อไป
เน้นพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง รูปแบบ TOD
โดยบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการศึกษาหาแนวทางการพัฒนา ในแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาไปในด้านใด เพื่อให้เกิดมูลค่าและสร้างรายได้สูงสุดแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย บางพื้นที่อาจมีความเหมาะสมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ หรือพัฒนาพื้นที่สาธารณะเชิงสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต ที่อยู่อาศัย และสุขภาวะของประชาชนเป็นหลัก และในบางพื้นที่บริษัทอาจมุ่งเน้นการพัฒนา โดยใช้แนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน TOD ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และทิศทางการวางผังเมืองของภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย
ในขณะเดียวกันแนวทางการพัฒนาที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด นำมาใช้ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวมก็จะได้ผลประโยชน์ในการพัฒนาเช่นกัน อาทิ การสร้างงาน สร้างอาชีพ วิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้พัฒนาประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินและผลตอบแทน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนโดยอ้อมอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ เอสอาร์ที แอสเสท ยังระบุว่า ด้วยศักยภาพของบริษัทที่เต็มไปด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มากประสบการณ์ มีทิศทางและเป้าหมายในการบริหารและพัฒนาที่ชัดเจน บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด พร้อมรับพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อการพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปต่อยอดให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต