กังขาวิธีทวงคืน ที่ดินมักกะสันVSที่ดิน เขากระโดง  เหตุใดมาตรฐานต่างกัน

15 เม.ย. 2565 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 11:58 น.

กังขาวิธีทวงคืน ที่ดินมักกะสัน VSที่ดิน เขากระโดง ที่ดินการรถไฟทั้ง2แปลง  เหตุใดมาตรฐานการดำเนินคดีต่างกัน"เสรีพิศุทธ์" ตั้งคำถาม ดัง ลุย บรรจุปมที่ดินเขากระโดง เป็นวาระพิจารณา กมธ.ป.ป.ช.ปลายเดือนเมษายนนี้

 

ปมฟ้องขับไล่ประชาชาบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กรณีที่ดินมักกะสัน และที่ดินอีกหลายแปลง ที่รฟท.ใช้วิธีทวงคืนจากการฟ้องร้องขับไล่ เพื่อขับพ้นพื้นที่

 

เพื่อให้การรถไฟใช้ในกิจการเดินรถและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในรูปพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รูปแบบมิกซ์ยูส หารายได้เข้าองค์กรและการเช่าระยะยาวของนายทุนพัฒนาเมืองมักกะสัน

 

ขณะที่ดินเขากระโดงเนื้อที่5,083เศษ รฟท.ทราบดีมาโดยตลอดว่ามีประชาชนตลอดจนนักการเมืองดังเข้าทำประโยชน์ บนที่ดินรถไฟฯเกือบ1000รายและถึงขั้นมีการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน น.ส.3 ฯลฯเป็นการถาวร กลับเพิกเฉยไม่ฟ้องขับไล่ แต่กลับฟ้องรัฐด้วยกันคือกรมที่ดิน

หลายฝ่ายกังขาตั้งคำถามมากที่สุด และนำมาเปรียบเทียบกับคดีบุกรุกที่ดินระหว่างมักกะสัน กับ กรณีคดีเขากระโดง โดยเฉพาะพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวสหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยโดยที่ดินมักกะสัน มีประชาชนบุรุกมากกว่า100คน ที่เข้าอยู่อาศัยที่ดินรถไฟฯ บริเวณมักกะสัน

 

 

ปมร้อนดังกล่าวรฟท.กลับไม่ดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินรถไฟฯบริเวณเขากระโดง เป็นพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ และไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีประเด็นที่เกี่ยวข้องรัฐมนตรีที่มีบ้านพักอยู่ในที่ดินเขากระโดงของ รฟท. ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

 

ทั้งนี้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์  ระบุว่าจะนำเรื่องร้องเรียนที่กล่าวหานักการเมืองและเครือญาติบุกรุกและใช้ที่ดินรถไฟเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาว่าที่ดินเขากระโดงเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะบรรจุเป็นวาระพิจารณา กมธ.ป.ป.ช.ปลายเดือนเมษายนนี้

ที่ดินเขากระโดง

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อ้างว่า ในสมัยของตนเองเป็นผู้ว่ารฟท.จะไม่มีการฟ้องร้องประชาชนผู้บุกรุก แต่ในทางกลับกัน จะแก้ปัญหาที่ดินของรถไฟทั่วประเทศอย่างจริงจัง บนหลักการที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และโปร่งใส

 

 

พร้อมทั้งยึดหลักธรรมาภิบาลและมีจริยธรรมอย่างเหมาะสม ที่ผ่านมามีการพูดถึงที่ดินเขากระโดง ซึ่ง รฟท.ได้ชี้แจงมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีการนำข้อมูลบางประเด็นมากล่าวถึงซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และกระทบต่อความเชื่อมั่นของรฟท.ที่กำลังดำเนินการฟื้นฟูองค์กร
 

 

โดยกรณีที่ดินเขากระโดงนั้น เป็นกลุ่มที่ถือเอกสารสิทธิทับซ้อน ซึ่งกรณีนี้มีการยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีมติป.ป.ช.ให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอีสาณ อำเภอ เมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งให้ รฟท.ไปฟ้องประชาชน

 

ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่รฟท.ชนะคดี โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่ที่ รฟท.นำเสนอว่าพื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของรถไฟ แต่คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ จะเอาคำพิพากษาไปบังคับกับที่ดิน 5,083 ไร่ ไม่ได้ซึ่งที่ดิน 5,083 ไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิประมาณ 900 ราย

 

แบ่งเป็น โฉนดที่ดิน จำนวน 700 ราย, ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย, น.ส.3 ก. จำนวน 7 ราย, หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย, ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง, และอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง
 

 

โดยเมื่อมีประชาชนถือครองเอกสารสิทธิที่ออกโดยกรมที่ดิน ดังนั้น รฟท.ทำหนังสือถึงกรมที่ดินให้วินิจฉัยว่าการออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อครบเวลา 60 วัน กรมที่ดินไม่ตอบ รฟท.จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564

 

 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไม่ดำเนินการตามที่การรถไฟฯ ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ดิน รฟท.

 

ขอให้ศาลพิพากษาให้กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน และเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ และขับไล่ผู้ครอบครอง และถือเอกสารสิทธิในที่ดินของ รฟท.ออกไปทั้งหมด โดย ศาลปกครองกลางได้รับฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565

 

นายนิรุฒกล่าวว่า คู่ความของ รฟท.คือกรมที่ดิน โดยรฟท.ได้ยื่นศาลปกครองตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ ยืนยันว่า รฟท.จะดำเนินการนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นของ รฟท.แต่จะไม่ฟ้องประชาชน โดยรอคำพิพากษาของศาลปกครอง

 

มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดอย่างไร รฟท.พร้อมปฎิบัติตาม ซึ่งปัจจุบัน รฟท.มีรายได้จากการให้เช่าที่ดินประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่ดินเขากระโดงหากนับจากวันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา

 

ประเมินรายได้ที่ รฟท.สูญเสียมีความเสียหายประมาณ 700 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยจนกว่าคดีจะได้ข้อยุติ ซึ่งกระบวนการเรียกค่าเสียหายนี้จากกรมที่ดินแม้จะเป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกันแต่ก็เป็นการดำเนินการเพื่อความถูกต้อง
 

สำหรับปัญหาที่มีประชาชนเข้าไปอยู่ในที่ดินของรถไฟ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การบุกรุกที่ดิน และผู้ถือเอกสารสิทธิ โดย 2 ส่วนนี้มีการดำเนินการที่แตกต่างกัน เนื่องจากกรณีเป็นผู้บุกรุกนั้นผิดกฎหมายและไม่มีสิทธิและไม่มีเอกสาร

 

ดังนั้น รฟท.มีหน้าที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการเจรจากับผู้บุกรุก และเปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้เช่าที่ดิน และสร้างรายได้ให้ รฟท.

ทั้งนี้การบุกรุกที่ดินรถไฟมีปัญหากระทบ 3 ส่วน คือ 1. บุกรุกแล้วทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการเดินรถ เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิต 2. บุกรุกแล้วเป็นแหล่งอาชญากรรม แหล่งมั่วสุม 3. บุกรุกแล้วกีดขวางทางน้ำ ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง ดังนั้น รฟท.จะไม่ประนีประนอมต่อการบุกรุก
 

ส่วนกลุ่มที่เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิที่ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ เนื่องจากโฉนดที่ดินเป็นเอกสารราชการ ผู้ถือโฉนดที่ดินก็เชื่อมั่นในเอกสารราชการ จึงเป็นคำถามต่อมาว่า โฉนดที่ดินนั้นออกถูกต้องหรือไม่ ซึ่ง รฟท.จะดำเนินการโดยไม่ระรานประชาชน

 

เพราะการถือเอกสารสิทธิที่ทับซ้อนที่ดินรถไฟอาจเกิดจากความเข้าใจผิดตั้งแต่ในอดีต ดังนั้น รฟท.จะไม่ปฎิบัติต่อผู้ถือเอกสารสิทธิทับซ้อนที่ดินรถไฟเหมือนกับกลุ่มบุกรุก
 

ปัจจุบันมีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิทั่วประเทศ 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,538 ราย, 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย, นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆ 3,045 ราย, จังหวัดอื่นๆ 12,459 ราย
 

กลุ่มที่ดินมีข้อพิพาท มีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน ประชาชนถือเอกสารสิทธิที่ออกโดยราชการ และอาศัยอยู่โดยสุจริต จำนวน 1,137 ราย ประกอบด้วย พังงา-ท่านุ่น 20 ราย, อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 15 ราย, บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี 2 ราย, เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 900 ราย, พื้นที่อื่นๆ 200 ราย
 

ในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดิน รฟท.นั้น มีคณะทำงานใน 3 ระดับ คือ 1. คณะทำงานในระดับ รฟท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำบัญชีรายชื่อ ชุมชน และจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม

 

2. คณะทำงานในระดับกระทรวงฯ มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พิจารณาให้ความช่วยเหลือในระดับนโยบาย 3. คณะกรรมการระดับประเทศ มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน