‘เอเชีย เอรา วัน’ ยื้อ รับมอบพื้นที่ไฮสปีดชง "มีชัย" ตีความกม.ที่ดินมักกะสัน

21 พ.ค. 2565 | 02:03 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2565 | 15:23 น.

"เอเชีย เอรา วัน"ยื้อ รับมอบที่ดิน มักกะสัน ลามตอกเข็มไฮสปีด3สนามบินชะงัก! คาดปมขยายเวลา 3 เดือน ไม่ทัน ปลดล็อกลำรางสาธารณะ พ้นโฉนด ด้าน รฟท.ดิ้น ชงมือกฎหมายเมืองไทย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ปธ.กฤษฎีกาตีความ เหตุเคยใช้ประโยชน์เป็นพวงรางรถไฟ-โรงซ่อม มาก่อน

 

การเจรจาของคณะกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด เครือซีพี ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

 

              

เพื่อนำไปสู่ข้อยุติการส่งมอบพื้นที่และเดินหน้าก่อสร้างไฮสปีด 3สนามบินให้เป็นไปตามแผน แต่เนื่องจากยังมีปมลำรางสาธารณะปรากฏบนโฉนดที่ดินมักกะสันโครงการพัฒนาเชิงพาณิชน์รอบสถานี ให้สอดรับกับการเดินรถจึงเป็นสาเหตุให้เอกชนคู่สัญญาขอขยายเวลาการรับมอบพื้นที่ออกไปอีก 3 เดือนนับจากวันที่ 24 เมษายน 2565

 

 

 

 

โดยคาดหวังว่า รฟท.จะเพิกถอนสภาพลำรางสาธารณะพ้นจากแปลงที่ดิน ซึ่ง ผู้แทนจาก บริษัทเอเชียเอรา วัน  ฯ ระบุว่า หากยอมรับมอบพื้นที่ทั้งที่ยังติดปัญหาข้อกฎหมาย อาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งรัฐและเอกชน ขณะในทางปฏิบัติรฟท.ยอมรับว่าต้องใช้เวลาแก้ปัญหาตามขั้นตอนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี

 

สำหรับทางออก รายงานข่าวจากรฟท.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธาน เพื่อขอให้ตีความปมลำรางสาธารณะบนที่ดินมักกะสันว่า กรณีลำรางดังกล่าวไม่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อการสาธารณะเป็นเวลายาวนาน

 

ประกอบกับรฟท.ใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างพวงรางรถไฟและโรงซ่อมทับลำรางดังกล่าว ประเด็นนี้สามารถเปลี่ยนการใช้ประโยชน์นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินได้หรือไม่ คาดว่าจะได้รับคำตอบจากกฤษฎีกาภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หากสามารถดำเนินการได้โดยมีกฤษฎีการับรอง  จะช่วยให้เอกชนรับมอบพื้นที่เร็วขึ้น

ที่ผ่านมารฟท.ยอมรับไม่เคยทราบมาก่อนว่าที่ดินติดลำรางสาธารณะ กระทั่งบริษัทเอเชียเอราวันฯ ไปขอตรวจสอบโฉนดที่ดินยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาห้วยขวาง จึงพบว่ามีปัญหา

              

ส่วนที่ดินที่เกิดจากการเวนคืนตั้งแต่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาระยะทาง 170 กิโลเมตรจำนวน 11 จุด แล้วเสร็จ 95.6% หรือเหลือเพียง 4% เศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารบ้านเรือนที่ยังไม่สามารถเข้าไปรื้อถอนได้กว่า 20 อาคาร

 

เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องรอใบแจ้งปลอดภาระหนี้จากสถาบันการเงินเพราะสถาบันการเงินเป็นผู้รับจำนอง คาดว่าจะสามารถรื้อถอนให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบได้ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

              

ขณะที่การบุกรุกที่ดิน บริเวณเขตทาง เหลือจำนวน 2 รายบริเวณโรงเรียนบ้านเขาชีจรรย์ หมู่ 11 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นที่ดินของกรมชลประทาน  ที่ผ่านมาได้เจรจาแล้วหลายครั้ง ถึงความจำเป็นต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน ผู้บุกรุกกลับอ้างว่า

 

ได้เช่าที่ดินกับกรมชลประทานและไม่ประสงค์ออกจากพื้นที่แต่เมื่อกรมชลประทานจะย้ายพื้นที่เช่าให้ใหม่ แต่กลับไม่มีหลักฐานสิทธิการเช่ามาแสดง ล่าสุดได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมจ่ายค่าทดแทนเรียบร้อยแล้ว

                

ที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกมาตลอดโดยหลังการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกแล้วเสร็จครบทั้งหมดรฟท.มีแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้รับสัมปทานภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 แต่ทั้งนี้เอกชนจะยินยอมรับมอบพื้นที่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ดินมักกะสัน