โศกนาฎกรรมไฟไหม้สำเพ็ง ย่านการค้าเก่าแก่ใจกลางกรุงเทพมหานครกลายเป็นชนวนไปสู่การเอาจริงเอาจังร่วมมือกันทุกภาคส่วน นำสายไฟ สายสัญญาณสื่อสารลงดินทั่วทั้งพระนคร
เนื่อง จากอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากหม้อแปลงสายไฟสายสื่อสารเสื่อมชำรุดซึ่งไม่ต่างจากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจสำคัญที่มีสายไฟรกกรุงรังย้อยลงใกล้การสัญจรและประชิดบ้านเรือนประชาชน อาจนำมาซึ่งการปะทุโหมไหม้ขึ้นได้ทุกเมื่อ
ส่งผลให้นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน จับมือการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อย่อว่า NT
รัฐวิสาหกิจที่ดูแลการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศไทยรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
ผนึกกำลังลงทุนสร้างมหานครไร้สายและสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามทั่วกรุง โดยเป้าหมายในส่วนที่จับมือกันของ MEA ตามนโยบายหักเสาไฟฟ้าที่ดำเนินโครงการอยู่ก่อนหน้านี้ โดยต้อง การจัดระเบียบสายไฟฟ้าลงดิน เบื้องต้นกว่า 236 กิโลเมตร
ขณะในส่วนของกระทรวงดีอีและกสทช. มีเป้าหมายร่วมมือจัดระเบียบสายสื่อสารมหานครไร้สายกับกทม. มาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2563 สมัยพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่ากทม.
แบ่งเป็น 2 เฟสใหญ่เฟสแรก จัดระเบียบสายที่รกรุงรังโดยยังไม่เอาลงใต้ดินในทันที แต่รื้อสายที่ไม่ได้ใช้งานออกก่อน โดยมีเป้าหมาย 800 กิโลเมตรภายในปี 2565 แต่เกิดความล่าช้าเวลาล่วงมาถึงปัจจุบัน (กรกฎาคม 2565)
การดำเนินการคืบหน้าเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนเฟสสอง การนำสายสื่อสารลงดินประเมินค่าใช้จ่ายไว้ราว 19,000 ล้านบาท กสทช.เสนอช่วยงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ขณะบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (KT) บริษัทลูกของกทม.ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ นำสายไฟสายสื่อสารบนดินมุดลงใต้ดินมูลค่าประเมินไว้ที่ 20,000 ล้าน บาท เป้าหมาย 2,450 กิโลเมตร
เป็นมูลค่าใกล้เคียงกับกสทช. และดำเนินร่วมกันมาเป็นเวลา 2 ปีนับตั้งแต่ปี 2563-2565 แล้วเสร็จกว่า 10 กิโลเมตรวงเงิน 200 ล้านบาท แยกเป็นกรุงเทพธนาคมกับกสทช.
1. ถนนวิทยุ จากเพชรบุรี-แยกเพลินจิต ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
2. ถนนรัชดาภิเษก จาก MRT-รัชดาฯ ซอย 7 ระยะทาง 2 กิโลเมตร
3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์จากสาธรใต้-นราธิวาสราชนครินทร์ซอย 10 ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร
4. ถนนวิทยุจากแยกเพลินจิตถึงถนนสารสิน ระยะทาง 2.2 กิโล เมตร
ส่วนกรุงเทพธนาคมกับกทม. ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ถนนพระราม 1 สยามสแควร์ ก่อสร้างบาทวิถี วางท่อร้อยสายทั้งสองฝั่ง ระยะ ทางประมาณกว่า 1-2 กิโลเมตร
ปัญหาใหญ่ไม่มีโอเปอร์เรเตอร์หรือกิจการสื่อสารใด ยอมลงทุนนำสัญญาณลงใต้ดินลงสู่ท่อตามที่ KT ดำเนินการไว้ เพราะต้นทุนสูงไม่ตํ่ากว่า 10,000 บาท ต่อกิโลเมตรเมื่อเทียบกับการอาศัยพึ่งพาพาดสายสัญญาณไว้กับเสาไฟฟ้ามีต้นทุนเพียงหลักพันบาท
เพราะหากมีต้นทุนที่สูงภาระย่อมตกอยู่กับผู้บริโภค ดังนั้นต้องเป็นงานระดับชาติที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนงบประมาณอีกทั้งเมื่อพื้นที่นำสายไฟสายสื่อสารลงดินบริเวณนั้นจะเป็นแรงผลักให้โอเปอร์เรเตอร์ต้องปฏิบัติตามเพราะไร้เสาไฟเกาะเกี่ยว เบื้องต้น NT รับอาสาทำให้การเดินไปข้างหน้าร่วมกันย่อมเกิดความหมาย
แม้จะเป็นระยะทางอีกยาวไกลแต่เมื่อนายชัชชาติผู้ว่ากทม. และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ จับมือร่วมกันสานต่อนโยบายผู้ว่ากทม.คนก่อน รวมถึงนโยบายหักเสาไฟฟ้า ของ MEA เชื่อว่า เมืองหลวงของไทยย่อมสวยงามปลอดภัยไม่แพ้ชาติใดในโลก!!!