ไฟไหม้สำเพ็ง แนะฟ้อง กสทช.ไม่รัดกุมปล่อยสายสื่อสารพาดรกรุงรัง

27 มิ.ย. 2565 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2565 | 17:33 น.

กรณี "ไฟไหม้สำเพ็ง" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แนะฟ้อง กสทช. ด้วย เหตุไม่รัดกุม ปล่อยให้สายสื่อสารพาดรกรุงรัง

"ไฟไหม้สำเพ็ง" เจ้าของตึกไฟไหม้สำเพ็งเล็งฟ้องการไฟฟ้าเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หลังเคยแจ้งให้มาซ่อม แต่ไม่เห็นทำอะไร จนเกิดระเบิด ล่าสุด “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีไฟไหม้สำเพ็ง ควรฟ้องใคร ?

 

โดยระบุว่า ควรฟ้องการไฟฟ้าฯ เพราะผู้ก่อปัญหาคือบรรดาบริษัทให้บริการอินเทอร์เนต ที่พาดสายรุงรัง โดยไม่ได้ขออนุญาตจากใคร และเป็นสื่อที่ทำให้ไฟไหม้ลามไปตามถนนอย่างรวดเร็ว และควรจะฟ้อง กสทช. ด้วย ในฐานะที่ละเลยไม่กำกับดูแลให้รัดกุมเท่าที่ควร

ข้อมูลของนายธีระชัย ระบุว่า  การไฟฟ้าได้เงินค่าพาดสายสื่อสาร อ้างอิงจาก ประกาศการไฟฟ้านครหลวง ที่ 30/2557 เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ได้กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ไว้ดังต่อไปนี้

 

ค่าสำรวจและค่าบริการนำข้อมูลสายสื่อสารบันทึกในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

  1. ค่าสำรวจเสาไฟฟ้าในการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า 6 บาท ต่อต้น
  2. ค่าบริการนำข้อมูลสายสื่อสารบันทึกในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 725 บาท ต่อกิโลเมตร

 

ค่าบริการรายปีเพื่อการบำรุงรักษาเสาไฟฟ้าจากการติดตั้งสายสื่อสารตามขนาดสายสื่อสารเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 18 มิลลิเมตร ค่าบริการ 2.90 บาท ต่อมิลลิเมตรต่อต้น

  1. การชำระค่าบริการครั้งแรก เริ่มนับจากวันที่การไฟฟ้านครหลวงอนุญาตให้ติดตั้งสายจนถึงสิ้นปีนั้น และเศษของจำนวนวันคิดเป็น 1 เดือน
  2.  การชำระค่าบริการในครั้งต่อไป ให้ชำระเป็นรายปี

 

ค่าอบรมด้านความปลอดภัย ผู้ขออนุญาตต้องส่งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดำเนินการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ามาเข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย และการไฟฟ้านครหลวงจะออกบัตรอนุญาตให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมตามข้อกำหนดของการไฟฟ้านครหลวง โดยคิดค่าใช้จ่าย คนละ 2,000 บาท

 

ค่าใช้จ่ายอื่น

  1.  กรณีสายสื่อสารที่ติดตั้งมีขนาดเกินกำหนด
  2. ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 18 ถึง 36 มิลลิเมตร คิดค่าใช้จ่าย 3.48 บาท ต่อมิลลิเมตรต่อต้นต่อปี
  3.  ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 36 ถึง 54 มิลลิเมตร คิดค่าใช้จ่าย 4.06 บาท ต่อมิลลิเมตรต่อต้นต่อปี
  4. ค่าติดตั้งสายสื่อสารส่วนที่เกิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสายมากกว่า 54 ถึง 72 มิลลิเมตร คิดค่าใช้จ่าย 4.64 บาท ต่อมิลลิเมตรต่อต้นต่อปี
  5. ค่ารื้อถอนสายสื่อสารการไฟฟ้านครหลวงจะรื้อถอนสายสื่อสารที่ติดตั้งเกินขนาดตามค่าแรงมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงตามความเป็นจริง

อัตราค่าใช้จ่ายตามประกาศนี้ ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ที่มาข้อมูล: ประกาศการไฟฟ้านครหลวง ที่ 30/2557 เรื่อง อัตราค่าใช้จ่ายการติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

 

ข้อมูล : Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล