ราคาที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของดีเวลลอปเปอร์ รองรับความต้องการของคนในพื้นที่ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ อสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติต่อจากผู้ประกอบการไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการ
โดยพบว่า ราคาที่ดินแพงสุดตามราคาตลาดในภาคตะวันออก อยู่ถนนเลียบชายหาดพัทยา ราคา 610,000 บาทต่อตารางวา โดยราคาที่ดินขึ้นยกแผงเฉลี่ย 7.6% ส่วนที่อยู่อาศัยยังคึกคักในภาคตะวันออกโดยเฉพาะชลบุรีที่มีหน่วยขายมากที่สุดในประเทศรองจากเขตกรุงเทพมหานคร(กทม.)แต่จังหวัดที่ยังเติบโตช้าคือฉะเชิงเทรา แต่ในทางกลับกันยังถือว่าติดหนึ่งใน10จังหวัดที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยสูงสุด
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (area.co.th) เปิดเผยว่า จากการสำรวจราคาที่ดินรวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและที่ดินในภูมิภาคระเบียงภาคตะวันออกหรืออีอีซี จำนวน 29 จุดสำคัญ หรือ29ถนน
ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7.6% จากปี 2564 โดยบริเวณที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ที่ถนนเลียบชายหาดพัทยาซอย8ซึ่งอยู่บริเวณด้านหน้าของโรงแรมอิสตินี ราคาตารางวาละ 610,000 บาทโดยเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน(2564) 5.2% รองลงมา คือบริเวณถนนพัทยาสาย 2 ตรงข้าม พัทยาไนท์บาซา ตลาดยอดฮิตของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ราคาต่อตารางวาอยู่ที่ 530,000 ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อนที่6.0%
ที่ปรับขึ้นสูงสุด ในจำนวน 29 ทำเล คือบริเวณถนนสุขุมวิท ฝั่งตรงข้ามโชว์รุมโตโยต้า จังหวัดระยองราคา110,000 บาทต่อตารางวา ปรับขึ้นจากปีก่อน 13.4% ตามด้วยถนนอัสสัมชัญ-สวนเสือฝั่งตรงข้ามสวนเสือศรีราชา 45,000 บาทต่อตารางวา ปรับขึ้น12.5%
เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมาคือบริเวณถนนพรประภานิมิตร ตรงข้ามเทสโก้ โลตัส สยามคันทรี คลับพัทยาราคาตารางวาละ49,000 บาท ปรับสูงกว่าปีก่อน 11.4%
ส่วนทำเลที่ไม่มีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงราคาที่ดินจะอยู่ที่ ถนนพัทยากลาง ข้างร้านแม่ศรีเรือน ราคาตารางวาละ340,000 บาท และถนนพัทยาเหนือ ตรงข้าม เฮลท์แลนด์ พัทยา (Heal Land Pattaya )ราคาตารางวาละ300,000บาท สัดส่วนที่ 0.0%
การไม่ปรับขึ้นมองว่า ราคาที่ดินอาจแพงชนเพดาน ไม่มีการซื้อขาย ,เจ้าของที่ดินไม่ขาย,การพัฒนาเต็มพื้นที่ ไม่มีการเปลื่อนมือขณะพื้นที่ที่ราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงนายโสภณวิเคราะห์ว่าเกิดจากการซื้อขายเปลี่ยนมือจากนักลงทุนชาวอินเดีย ให้ความสนใจซื้อโรงแรมในพื้นที่
โดยเฉพาะในทำเลตัวเมืองพัทยาขณะกลุ่มนักลงทุนจีนยังน้อยหรือยังแทบไม่เคลื่อนไหวต่อการเข้าซื้อที่อยู่อาศัยหรือกิจการในอีอีซี อาจเป็นเพราะนโยบายแต่ละประเทศยังไม่เปิดให้มีการเดินทางจากผลพวงของสถานการณ์โควิด นั่งเอง
นายโสภณกล่าวต่อว่า ชลบุรีมีโครงการที่อยู่อาศัยมากที่สุดในประเทศไทยรองจากกทม. โดยมี 1,529 โครงการ รวม 259,939 หน่วย มีมูลค่าโครงการอยู่ 732,586 ล้านบาท หรือมีราคาเฉลี่ยหน่วยละ 2.818 ล้านบาท ขายเหลืออยู่ 34,172 หน่วย ส่วนระยอง ก็อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีหน่วยขายรวมกันมากเป็นอันดับที่ 3 แต่หากนับจำนวนหน่วยรอขาย (เหลือขายอยู่) จะมีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 3
โดยระยองมีหน่วยเหลือขายอยู่ 20,530 หน่วย ซึ่งมากกว่าเชียงใหม่ที่ยังรอขายอยู่ 13,594 หน่วยเท่านั้น และฉะเชิงเทรา มีหน่วยขายรอขายอยู่ 6,840 หน่วย ถือเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเฉพาะ 3 จังหวัดหลักของภาคตะวันออก ติดหนึ่งใน10ของจังหวัดที่มีการพัฒนาสูงสุด
ในรายละเอียดพบว่า 1. ฉะเชิงเทรามีสัดส่วนการขายค่อนข้างต่ำ คือเดือนหนึ่งขายได้ราว 1.8% เท่านั้น หน่วยขายกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่เป็นทาวน์เฮาส์ จำนวน 2,633 หน่วย จากหน่วยที่รอขายอยู่ทั้งหมด 6,840 หน่วย
2. ชลบุรี มีหน่วยเหลือขายอยู่ 34,172 หน่วย แต่อัตราการขายดีกว่าฉะเชิงเทรา คือขายได้แล้ว 86.9% และแต่ละเดือนขายได้ 2.3% ของหน่วยขายทั้งหมด กลุ่มหลักที่ขายอยู่กลับเป็นห้องชุด โดยมีจำนวน 12,157 หน่วย รองลงมาคือทาวน์เฮาส์ 11,988 หน่วย
3. ระยองมีหน่วยรอขายอยู่ 20,530 หน่วย ขายได้แล้ว 72.5% และอัตราการขายประมาณ 2.3% ต่อเดือน สินค้าส่วนใหญ่ที่รอคนซื้ออยู่คือทาวน์เฮาส์ 8,821 หน่วย รองลงมาคือบ้านเดี่ยว 5,946 หน่วย และห้องชุด 2,229 หน่วยตามลำดับ
โดยสรุปแล้วตลาดที่อยู่อาศัยในฉะเชิงเทรายังขายได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น และยังมีอัตราการขายที่ช้ากว่าจังหวัดอื่น จึงไม่ควรไปลงทุนเพิ่มอุปทานหรือปริมาณสินค้าให้มากไปกว่านี้ในช่วงนี้