10 สิงหาคม 2565 -นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ DDproperty กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังคงเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับราคาขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ต้องประเมินความเสี่ยงทางการเงินกับความคุ้มค่าให้รอบคอบมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยยังคงไม่ปรับขึ้น หลังผู้ประกอบการพยายามตรึงราคาเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยบ้านเดี่ยวยังได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบเดียวที่ดัชนีราคาเติบโตในไตรมาสที่ผ่านมา
ไตรมาส 3 โอกาสทองของผู้ซื้อและนักลงทุนอสังหาฯ
" ช่วงไตรมาส 3 ถือเป็นโอกาสทองของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และนักลงทุนที่มีความพร้อม ก่อนที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่สูงขึ้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่มีทิศทางปรับขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย "
" การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยคงที่ของธนาคาร/สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ท้าทายในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคไม่น้อย ด้านผู้ประกอบการเร่งกระตุ้นการตัดสินใจซื้อด้วยการแข่งจัดโปรโมชันสุดคุ้ม หรือตรึงราคาให้นานที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนหาบ้านยุคนี้ เมื่อผนวกกับปัจจัยบวกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ทำให้ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้ได้ 100% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย รวมถึงมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์-ค่าจดจำนอง เหลือเพียง 0.01% จึงถือเป็นโอกาสสุดท้ายของปีนี้ที่เอื้อให้ผู้บริโภคสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในราคาที่ยังไม่แพงเกินไป"
โครงการแนวราบโตต่อเนื่อง ดีมานด์คนซื้อเพิ่ม
ขณะ ดัชนีอุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ผ่านมานั้น ที่อยู่อาศัยแนวราบมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยบ้านเดี่ยวมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนอยู่ที่ 7% และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่สินค้าแนวราบอยู่ในมือได้นำสินค้าออกมาขายมากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand)
คอนโดฯจัดแคมเปญลดราคาต่อ
ด้านคอนโดฯ แม้จะครองตลาดด้วยสัดส่วนมากที่สุดถึง 82% แต่ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลจากการดูดซับอุปทานไปแล้วบางส่วนจากการจัดโปรโมชันเร่งระบายสินค้าในสต็อกของผู้ประกอบการ รวมทั้งยังไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่มากนัก ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยมากขึ้น จากความเชื่อมั่นของผู้ขายที่นำสินค้าในมือออกมาขายมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการที่เปิดโครงการคอนโดฯ ใหม่เพิ่มขึ้น สอดรับกับดีมานด์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งตลาดอสังหาฯ จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตลาดท่องเที่ยวและกำลังซื้อจากชาวต่างชาติเช่นกัน
คนมองหาซื้อบ้านเพิ่ม 20%
ด้านแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยล่าสุดเพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มส่งสัญญาณปรับขึ้นราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ย กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้บริโภคต้องมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ในเวลานี้มากขึ้น ซึ่งคอนโดฯ กลายเป็นที่อยู่อาศัยที่มีความต้องการซื้อเพิ่มสูงสุดที่ 26% จากไตรมาสก่อน ตามมาด้วยทาวน์เฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว (เพิ่มขึ้น 15% และ 11% ตามลำดับ)
คอนโดฯครองใจคนเช่า ดีมานด์พุ่งกว่า 100%
ดัชนีค่าเช่ายังทรงตัว คอนโดฯ ครองใจผู้เช่าดันดีมานด์พุ่ง 105% แม้ภาพรวมอัตราค่าเช่าต่อตารางเมตรต่อเดือนในกรุงเทพฯ ยังคงทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากเจ้าของอสังหาฯ ให้เช่ายังตรึงราคาให้สอดคล้องกับรายจ่ายของผู้เช่า เพื่อช่วยกระตุ้นการตัดสินใจเช่าอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วพบว่า ดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2561 ซึ่งเป็นปีฐานอยู่ที่ 9% เลยทีเดียว เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีโอกาสเติบโตในตลาดเช่า โดยบ้านเดี่ยวมีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5% ตามมาด้วยทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดฯ (เพิ่มขึ้น 4% และ 1% ตามลำดับ) ขณะที่ดัชนีความต้องการเช่าล่าสุดปรับตัวเพิ่มสูงถึง 88% จากไตรมาสก่อน หรือเพิ่มขึ้นถึง 166% จากปีก่อนหน้า โดยคอนโดฯ ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุด เห็นได้ชัดจากดัชนีความต้องการเช่าที่เพิ่มถึง 105% จากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดเช่าคอนโดฯ ที่กลับมามีดีมานด์ในตลาดสูงอีกครั้ง ตามมาด้วยทาวน์เฮ้าส์ที่มีความต้องการเช่าเพิ่มขึ้น 21% และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน
“ความท้าทายที่ตลาดอสังหาฯ ไทยต้องเผชิญในตอนนี้ถือเป็นบททดสอบที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อข้ามผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน เนื่องจากผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และโรคฝีดาษลิง ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานและวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบกันเป็นทอด ๆ ทั้งในฝั่งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ทำให้การซื้อ-ขายในตลาดอสังหาฯ ไม่กลับมาคึกคักได้ตามที่คาดการณ์ไว้ "