9 ธ.ค.2565 - นับเป็นงานใหญ่เฝ้ารอคอย ของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ สำหรับ การประกาศผลรางวัล The Most Powerful Real Estate Brand ประจำปี 2565 ซึ่งเก็บข้อมูล สำรวจความพึงพอใจผู้บริโภค โดย บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด
ซึ่งผู้ที่คว้ารางวัลในปีนี้ ได้แก่ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ตกอยู่ในกระแสดราม่าการเมืองบ่อยครั้ง กับกรณีล่าสุด 'ทุนจีนสีเทา' แต่อย่างไรก็ตาม เอสซี ได้ออกมาชี้แจง ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และยืนยันในนโยบายการขายที่อยู่อาศัยให้กับคนไทยและนิติบุคคลเท่านั้น
โดยครั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่ SC ASSET คว้ารางวัล The Most Powerful Real Estate Brand โดยเป็นแบรนด์ที่มีการปรับตัวเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการรับรู้ ภาพลักษณ์ และความพึงพอใจ ก่อให้เกิดการสร้างฐานลูกค้าผู้ภักดี จึงครองตำแหน่งอันดับ 1 ในปีนี้
แสนสิริ อสังหาฯ ดาวค้างฟ้า
ขณะที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Eternal Award สำหรับแบรนด์ที่ครองใจลูกค้าได้ต่อเนื่องเป็นอันดับหนึ่ง 5 ปี ติดกัน เปรียบเสมือนแบรนด์ดาวค้างฟ้าเป็นตำนานในแวดวงอสังหาฯ และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ในปีนี้สามารถคว้ารางวัล Credence Award แบรนด์ผู้กำหนดบรรทัดฐานคุณภาพ และสร้างฝันของลูกค้าได้เป็นจริงสูงที่สุด และประกาศเกียรติคุณพิเศษให้กับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้าน Excellence in Cater to Economy Group (แบรนด์ตอบโจทย์คนชั้นกลาง) และ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ด้าน Excellence in Green Development (แบรนด์ที่พัฒนามุ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม)
เทอร์ร่า แนะ แบรนด์อสังหาฯ เฟ้นหาจุดขายใหม่ รับเทรนด์ผู้บริโภค
ทั้งนี้ นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่าฯ ยังแนะว่า การเข้าสู่ Metaverse นั้นพบว่าผู้คนมีประสบการณ์การใช้งานสัดส่วนเพียง 17% และ มีความคิดเห็นต่อโลกเสมือนจริงว่าน่าจะมาแทนที่โลกจริงได้ 62% ในขณะที่คนกลุ่ม Gen Z นั้นมีความคิดเห็นว่าโลกเสมือน Metaverse น่าจะเข้ามาแทนที่โลกแห่งความจริงได้สูงถึง 80% มากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ โดยการเข้าสู่ Metaverse นั้นเป็นไปเพื่อความบันเทิง (เล่นเกมส์ ดูคอนเสิร์ต) เพื่อการทำงาน (ประชุมออนไลน์) และเพื่อการลงทุน (NFT, Cryptocurrency) และประสบการณ์ต่อบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าสู่ Metaverse นั้นการรับรู้ยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับการรองรับผู้บริโภคยุคใหม่นี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องกำหนดจุดยืน จุดขายของตนเองใหม่ เนื่องด้วยผู้บริโภคในวันนี้ไม่ได้มองหาบ้านเพื่อการอยู่อาศัยเพียงเท่านั้น แต่ต้องการหาพื้นที่ที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ให้เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการนั้นคือ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบายด้วยร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวกในระยะเวลา 15 นาที สังคมเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร และสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย ซึ่งโครงการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทศวรรษนี้ นั่นคือ การวางแผนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส (Mix-used Project) นั่นเอง