การตรวจสอบกรณีคนไทยถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าวหรือนอมินีปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบความผิดปกติ โดยมีกลุ่มนักลงทุนจีนสีเทาเชื่อมโยง ในคดีตู้ห่าว เข้าซื้อหมู่บ้านจัดสรรหรู แบบยกโครงการในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นำมาซึ่งประเด็นร้อนที่รัฐบาลต้องเร่งสะสาง เพราะมีหลายฝ่ายจับตาว่า ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินของกลุ่มธุรกิจ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบและต้องการอยู่อาศัยทำธุรกิจบนผืนแผ่นดินไทยในลักษณะต้องห้าม อาทิ พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ค้าที่ดิน ซื้อบ้านจัดสรรเพื่ออยู่อาศัย ซื้อคอนโดมิเนียมแบบยกโครงการ แม้ว่าที่ผ่านมากฎหมายที่เกี่ยวข้องของกรมที่ดิน จะเปิดโอกาสให้คนต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในไทยได้ ต่อเมื่อ เป็นคู่สมรสกับคนไทย แต่มีเงื่อนไขว่า
การนำเงินตราเข้ามาเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจะต้องโอนมาจากต่างประเทศ การเปิดซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน1 ไร่ ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ตามกฎกระทรวงมหาดไทย การได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 การเปิดต่างชาติซื้อห้องชุดได้ในสัดส่วนไม่เกิน 49% รวมถึงการเช่าที่ดินระยะยาว ไม่เกิน 30ปี
ช่องโหว่ต่างชาติ
ในทางกลับกัน ต่างชาติมักใช้ช่องทางของกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งนิติบุคคล (บริษัท ) สัดส่วนคนไทยถือหุ้นสัดส่วน 51 : 49 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ฉวยโอกาส เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยโดยใช้คนไทยเป็นนอมินีโดยถือหุ้นแทน หรือเรียกว่า บริษัทไทยหัวใจต่างชาติ สามารถนำบริษัทดังกล่าวไปสวมซื้ออสังหาฯ ทำธุรกิจ จำนวนมาก เหมือนบริษัทคนไทยทั่วไป
โดยเฉพาะทำเลหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ พัฒนาบ้านหรูขายให้กับชาติเดียวกัน ทำให้คนไทยเสียโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยและนับวันราคายิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่รัฐบาลที่ออกกฎหมายในขณะนั้น ต้องการดึงเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติเข้าถือหุ้นกับเอกชนไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จาก วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
อย่างไรก็ตามการมาของตู้ห่าว กลุ่มทุนจีนสีเทา ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ จะมีกระแสออกมาเมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบได้สำหรับทางออกนางพนิตาวดี ปราชญ์นคร รองอธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมที่ดิน เพิ่มความเข้มข้นตรวจสอบกรณีคนไทยถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าวหรือนอมินี โดยออกหนังสือเวียน แจ้งแนวทางปฎิบัติไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ
กรณีการคนไทยที่ซื้อที่ดินด้วยเงินสดจะต้องสอบสวนและบันทึกถ้อยคำ พร้อม ลงนามในบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรม หากราคาบ้านหรือที่ดินเกิน 2 ล้านบาทจะต้องนำส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมากรมที่ดินได้ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว นับตั้งแต่ปี 2541
ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบลงลึกไปในรายละเอียดถึงอาชีพ รายได้ต่อเดือน พร้อมให้แสดงหลักฐานประกอบ หากเป็นนิติบุคคล จะต้อง แสดงที่มาของเงินที่ซื้อหุ้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรด้วย
ส่วนกรณี บุคคลต่างด้าวเช่าที่ดิน หรือถือสิทธิประเภทอื่นในระยะยาว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องสอบสวนว่าวัตถุประสงค์ในการเช่าที่ดินเพื่อนำไปประกอบกิจการใด ผู้ให้เช่าถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลต่างด้าวผู้เช่าหรือไม่ หรือขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือไม่
นอกจากนี้ผู้ซื้อต้อง ทราบว่า หากตรวจสอบพบ ภายหลังเป็นนอมินี จะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยใช้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน ระงับการจำหน่ายจ่ายโอน และขายทอดตลาดตามลำดับ รวมถึงการลงโทษทั้งแพ่งและทางอาญา ปรับไม่เกิน 2หมื่นบาท จำคุก 2 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยกรมประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบย้อนหลัง เงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล รวมถึงความเคลื่อนไหว การเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นของคนต่างชาติ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องรายงานกรมที่ดินเป็นระยะ
“มีแนวทางปฏิบัติ ให้ตรวจสอบว่า มีคนต่างด้าวถือหุ้น เกิน 49% หรือไม่ และมีหุ้นส่วนคนต่างด้าวเกิน 50% ของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือไม่ หากตรวจสอบแล้ว ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือว่านิติบุคคลดังกล่าวเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ ตาม มาตรา 97 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน”
เร่งสอบนอมินี 30 บริษัท
ล่าสุดกรณี กลุ่มทุนจีนสีเทา คดีตู้ห่าว กรมที่ดิน ตรวจสอบพบว่ามีกว่า 30 บริษัท เข้าซื้ออสังหาฯ ที่อาจจะอยู่ในข่ายนอมินีคนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ ขณะนี้ปปง.อยู่ระหว่างตรวจสอบ คาดจะสามารถทราบผลได้ในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เป็นข่าว ก่อให้เกิดความห่วงใยในเรื่องความเข้าใจของประชาชน เกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของบุคคลต่างด้าว
กรมที่ดินได้มีหนังสือสั่งการเน้นยํ้าให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ความรอบคอบ และสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดเจน กรณีที่คนไทยซื้อที่ดิน ว่าจะเข้าลักษณะเป็นการถือครองที่ดินแทนบุคคลต่างด้าวหรือไม่
พาณิชย์ไล่เช็คบิล
ขณะที่นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าติดตามและตรวจสอบกรณีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว(นอมินี) เพื่อสนับสนุนให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 อย่างเข้มงวดหลังรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2464
ไม่เพียงแต่ส่งผลให้การประกอบธุรกิจมีการฟื้นตัวแต่อาจจะมีคนต่างด้าวฉวยโอกาสเข้ามาประกอบธุรกิจ อย่างไม่ถูกต้องโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจคนไทย โดยมีอัตรากำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1แสน-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1-5 หมื่นบาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า มี ธุรกิจที่อยู่ในข่ายนอมินี จำนวน 148 ราย ประกอบด้วยอสังหาฯ การบริการ ท่องเที่ยว ฯลฯ
ต้องเร่งกวาดล้าง
สอดคล้องกับนายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ไทย สะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยเป็นนอมินี ถือครองที่ดินของต่างชาติมาช้านาน สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ อย่างไรก็ตามถึงเวลาที่ รัฐบาลต้องตรวจสอบเอาจริงเอาจังและต้องนำเงินใต้โต๊ะมาวางบนโต๊ะ อย่างไรก็ตามกรณีการเปิดโอกาสต่างชาติซื้อบ้านจัดสรรในไทยได้อย่างถูกกฎหมายน่าจะเป็นทางออกที่ดี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในทุกภาคส่วน